บทความ
ประวัติ
เจ้าฮ่อ เป็นข้าวไร่พื้นเมืองที่ได้มาจากชาวไทยภูเขาเผ่าลีซอ จังหวัดเชียงราย รวบรวมโดยสถานีทดลองข้าวพาน ในปี พ.ศ. 2522 ระหว่างปี พ.ศ. 2523-2525 ปลูกศึกษาพันธุ์ทดสอบเปรียบเทียบผลผลิตข้าวไร่ระหว่างสถานีภาคเหนือ และในปี พ.ศ. 2526 ทำการทดสอบพันธุ์ข้าวไร่ท้องถิ่น และได้รับการรับรองพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตรในปี พ.ศ.2530
ลักษณะเด่นของพันธุ์
ข้าวไร่เจ้าฮ่อ เป็นข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสงอย่างอ่อน ออกรวงระหว่าง 17-25 กันยายน เก็บเกี่ยวปลายเดือนตุลาคม ปลูกได้ในพื้นที่สูงไม่เกิน 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ให้ผลผลิตเฉลี่ย 210 กิโลกรัมต่อไร่ มีความต้านทานโรคไหม้ ต้านทานโรคหูดปานกลาง ไม่มีความต้านทานต่อโรคขอบใบแห้ง ใบสีส้ม โรคจู๋ โรคเขียวเตี้ย ไม่ต้านทานต่อแมลงบั่ว เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
ลักษณะประจำพันธุ์
ทรงกอตั้งตรง ลำต้นใหญ่ มีขนาดกอปานกลาง ความสูงของต้น 135 เซนติเมตร ลำต้นค่อนข้างแข็งแรง ไม่ล้มง่าย ลำต้นและข้อมีสีเขียว ใบค่อนข้างยาวและกว้าง แผ่นใบมีขน ก้านใบสีเขียว ข้อต่อระหว่างใบและกาบใบสีฟาง ใบธงกว้างและยาว จะตกเมื่อรวงแก่ เขี้ยวกันแมลงและเยื่อกันน้ำฝนสีฟาง รวงยาว ระแง้ถี่ คอรวงโผล่พ้นใบพอดี เมล็ดมีการร่วงปานกลาง สียอดเมล็ดขณะอ่อนมีสีฟาง แก่มีสีน้ำตาล เมล็ดอ่อนสีเขียวสีฟางเมื่อแก่ เมล็ดไม่มีหาง เมล็ดข้าวเปลือกยาว 9.88 มิลลิเมตร กว้าง 3.84 มิลลิเมตร หนา 2.18 มิลลิเมตร ข้าวกล้องมีสีขาว ยาว 7.37 มิลลิเมตร กว้าง 2.83 มิลลิเมตร หนา 1.95 มิลลิเมตร รูปร่างค่อนข้างป้อม น้ำหนักเมล็ดข้าวเปลือก 1,000 เมล็ด 33.1 กรัมเปอร์เซ็นต์ท้องไข่ต่ำ การยืดตัวของเมล็ดข้าวสุก 1.64 เท่า ปริมาณอมิโลส 15.8 % ข้าวสุกไม่มีกลิ่นหอม มีความนุ่มน้อยกว่า กข21