Loading...
บทความ

เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล( brown planthopper, BPH )

เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล( brown planthopper, BPH )

  • เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล( brown planthopper, BPH )
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Nilaparvata lugens (Stål)
  • วงศ์ : Delphacidae
  • อันดับ : Hemiptera
  • ชื่อสามัญอื่น :
  • รายละเอียด
    เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เป็นแมลงจำพวกปากดูด ตัวเต็มวัยมีลำตัวสีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลปนดำ มีรูปร่าง 2 ลักษณะ คือ ชนิดปีกยาว (macropterous form) และชนิดปีกสั้น (bracrypterous form) ตัวเต็มวัยเพศเมียชนิดปีกยาวมีขนาด 4.0-4.5 มิลลิเมตร เพศผู้มีขนาด 3.5-4.0 มิลลิเมตร (ภาพที่ 1) ชนิดปีกยาวสามารถเคลื่อนย้ายและอพยพไปในระยะทางใกล้และไกล โดยอาศัยกระแสลมช่วย ตัวเต็มวัยเพศเมียจะวางไข่เป็นกลุ่ม ส่วนใหญ่วางไข่ที่กาบใบข้าว หรือเส้นกลางใบ เรียงแถวตามแนวตั้งฉากกับกาบใบข้าว บริเวณที่วางไข่จะมีรอยช้ำเป็นสีน้ำตาล ไข่มีลักษณะรูปกระสวยโค้งคล้ายกล้วยหอม มีสีขาวขุ่น ระยะไข่นาน 7-8 วัน ตัวอ่อนมี 5 ระยะ ระยะตัวอ่อน 16-17 วัน เพศเมียวางไข่ประมาณ 40-300 ฟอง ตัวเต็มวัยมีชีวิตประมาณ 2 สัปดาห์ (ภาพที่ 2) ในหนึ่งฤดูปลูกข้าวเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลสามารถเพิ่มปริมาณได้ 2-3 ชั่วอายุ (generation) ตัวอ่อนอาศัยดูดกินบนต้นข้าวต้นเดิมที่ฟักออกจากไข่ ตัวอ่อนมีตั้งแต่สีน้ำตาลอ่อนถึงน้ำตาลดำ ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของประชากรขณะนั้น หากประชากรเบาบางลำตัวแมลงจะเป็นสีน้ำตาลอ่อน (ภาพที่ 3ก) แต่หากประชากรหนาแน่นมากจะเป็นสีน้ำตาลดำ (ภาพที่ 3ข)
  • ลักษณะการทำลายและการระบาด
    เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย ทำลายข้าวโดยการดูดกินน้ำเลี้ยงจากเซลล์ท่อน้ำท่ออาหาร บริเวณโคนต้นข้าวระดับเหนือผิวน้ำ ทำให้ต้นข้าวมีอาการใบเหลืองแห้งลักษณะคล้ายถูกน้ำร้อนลวก แห้งตาย เป็นหย่อมๆ เรียก "อาการไหม้ (hopperburn)” (ภาพที่ 4) โดยทั่วไปพบอาการไหม้ในระยะข้าวแตกกอถึงระยะออกรวง ซึ่งตรงกับช่วงอายุขัยที่ 2–3 ของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าว นาข้าวที่ขาดน้ำตัวอ่อนจะลงมาอยู่ที่บริเวณโคนกอข้าวหรือบนพื้นดินที่แฉะมีความชื้น นอกจากทำลายข้าวโดยตรงแล้ว เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลยังเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสโรคใบหงิก (rice ragged stunt) มาสู่ต้นข้าว (ภาพที่ 5 ซ้าย) ทำให้ต้นข้าวมีอาการแคระแกร็น ต้นเตี้ย ใบสีเขียวเข้ม แคบ และสั้น ปลายใบบิดเป็นเกลียว ใบธงสั้น และขอบใบแหว่งวิ่น และยังเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสของโรคเขียวเตี้ย (rice grassy stunt) (ภาพที่ 5 ขวา) ซึ่งการเกิดโรคทั้ง 2 ชนิดนี้ มักจะเกิดขึ้นในฤดูปลูกหลังจากที่มีการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลอย่างรุนแรงถึงระดับที่นาข้าวแห้งตาย จากอาการไหม้ของต้นข้าวในนา ปัจจัยที่มีผลต่อการระบาด วิธีการปลูกข้าว การปลูกข้าวแบบนาหว่านน้ำตมมีปัญหาการระบาดมากกว่านาดำ เพราะนาหว่านมีจำนวนต้นข้าวหนาแน่น ทำให้อุณหภูมิและความชื้นในแปลงนาเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ประกอบกับนาหว่านเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลสามารถทำลายข้าวได้อย่างต่อเนื่อง การใช้ปุ๋ย การใช้ปุ๋ยอัตราสูง โดยเฉพาะปุ๋ยไนโตรเจน ทำให้การเพิ่มจำนวนเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าวมีแนวโน้มมากขึ้น เนื่องจากปุ๋ยไนโตรเจน ทำให้ใบข้าวเขียว หนาแน่น ต้นข้าวมีสภาพอวบน้ำเหมาะแก่การเข้าดูดกิน และขยายพันธุ์ของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล การควบคุมน้ำในนาข้าว สภาพนาข้าวที่มีน้ำขังในนาตลอดเวลา ทำให้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลสามารถเพิ่มจำนวนได้มากกว่าสภาพที่มีการระบายน้ำในนาออกเป็นครั้งคราว เพราะมีความชื้นเหมาะแก่การเจริญเติบโตของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล การใช้สารป้องกันกำจัดแมลง การใช้สารป้องกันกำจัดแมลงในระยะที่เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเป็นตัวเต็มวัยชนิดปีกยาว หรือช่วงที่อพยพเข้าในนาข้าวใหม่ๆ (ข้าวระยะ 30 วันหลังหว่าน) ศัตรูธรรมชาติจะถูกทำลายและสารป้องกันกำจัดแมลงและไม่สามารถทำลายไข่ของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้ ทำให้ตัวอ่อนที่ฟักออกจากไข่มีโอกาสรอดชีวิตสูง ศัตรูธรรมชาติที่มีบทบาทในการควบคุมประชากรเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ได้แก่ มวนเขียวดูดไข่ Cyrtorhinus lividipennis Reuter เป็นตัวห้ำที่สำคัญทำลายระยะไข่ของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล (ภาพที่ 6 ซ้าย) โดยการดูดกินของเหลวภายในไข่ มักพบการแพร่กระจายในภาคกลางเป็นส่วนใหญ่ และอพยพเข้ามาพร้อมกับเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ซึ่งถ้าพบมวนชนิดนี้ในนามากกว่าเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล 2-3 เท่า มวนชนิดนี้สามารถควบคุมการเพิ่มปริมาณของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผลผลิตข้าวได้ แมงมุมสุนัขป่า Lycosa pseudoannulata (Bosenberg et Strand) เป็นแมงมุมตัวห้ำ (ภาพที่ 6 ขวา) ที่มีบทบาทมากที่สุด ในการควบคุมปริมาณตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าว เนื่องจากสามารถเคลื่อนย้ายไปมาในพื้นที่ต่างๆ ในนา โดยจะเคลื่อนย้ายเข้ามาในนาช่วงข้าวหลังหว่าน และจะเพิ่มปริมาณสูงในระยะข้าวแตกกอ การบริหารจัดการเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
    1) หลีกเลี่ยงการปลูกข้าวช่วงที่พบว่ามีเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลมาเล่นแสงไฟในพื้นที่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคมออกไป รอจนกว่าไม่พบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลบินมาเล่นแสงไฟจำนวนมาก (ภาพที่ 7)
    2) ปลูกข้าวพันธุ์ค่อนข้างต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เช่น สุพรรณบุรี 3 พิษณุโลก 2 กข31 กข41 กข47 กข49 กข57 กข61 กข63 กข71 กข79 กข85 กข95 เป็นต้น และไม่ควรปลูกพันธุ์เดียวติดต่อกันเกิน 4 ฤดูปลูก และพิจารณาอายุเก็บเกี่ยวให้ใกล้เคียงกัน เพื่อลดความเสียหายเมื่อเกิดการระบาดอย่างรุนแรง
    3) ในแหล่งที่มีการระบาด และสามารถควบคุมระดับน้ำในนาข้าวได้ แนะนำให้มีการควบคุมน้ำในแปลงนาช่วงหลังปักดำหรือหลังหว่านประมาณ 2-3 สัปดาห์ จนถึงระยะตั้งท้อง โดยควบคุมให้มีระดับน้ำมีพอดินเปียก หรือมีน้ำเรี่ยผิวดินนาน 7-10 วัน ปล่อยให้มีน้ำขังและแห้งสลับกันไป เพื่อทำให้สภาพนิเวศในนาข้าวไม่เหมาะสมต่อการขยายพันธุ์ของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และยังทำให้พวกมดในนาสามารถขึ้นมากัดกินตัวอ่อนเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้อีกทางหนึ่ง
    4) ปลูกข้าวโดยใช้วิธีปักดำหรือโยนกล้า หากปลูกโดยวิธีหว่าน ให้ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวปลูกไม่เกิน 20 กิโลกรัมต่อไร่
    5) ไม่ใช้สารอะบาเม็กติน เนื่องจากมีพิษร้ายแรงต่อศัตรูธรรมชาติ ก่อให้เกิดพิษต่อสัตว์น้ำและมลพิษของสภาพแวดล้อมในนาข้าว
    6) ไม่ใช้สารที่ทำให้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดเพิ่มขึ้น (ภาพที่ 8)
    7) ในกรณีที่ พบตัวอ่อนวัยที่ 1-2 จำนวนมากกว่า 5 ตัวต่อต้น หรือพบตัวอ่อนและตัวเต็มวัยชนิกปีกสั้น จำนวนมากกว่า 1 ตัวต่อต้น หรือ 10 ตัวกอขึ้นไป สามารถใช้สารป้องกันกำจัดแมลงตามคำแนะนำ ดังนี้ สารป้องกันกำจัดแมลงที่แนะนำให้ใช้ป้องกันกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ในข้าวระยะต่างๆ ได้แก่
    • ข้าวหลังหว่าน ถึงอายุ 40 วัน กรณีที่พบตัวอ่อนวัยที่ 1-2 จำนวนมากกว่า 5 ตัวต่อต้นขึ้นไป ให้ใช้สารป้องกันกำจัดแมลง ได้แก่ บูโพรเฟซิน 25% ดับบลิวพี หรือ บูโพรเฟซิน 5% ไอโซโพรคาร์บ 20% ดับบลิวพี หรืออีโทเฟนพรอกซ์ 20% อีซี่ ตามคำแนะนำในฉลาก ขึ้นกับชื่อการค้าที่ใช้
    • ระยะแตกกอ (ข้าวอายุ 41-60 วัน) กรณีที่พบตัวอ่อน และตัวเต็มวัยชนิดปีกสั้น จำนวนมากกว่า 1 ตัวต่อต้น ให้ใช้สารป้องกันกำจัดแมลง ได้แก่ อีโทเฟนพรอกซี 20% หรือ ไดโนทีฟูเรน 10% ดับบลิวพี ไพมีโทซีน 50% ดับบลิวจี 1,2 ตามคำแนะนำในฉลาก ขึ้นอยู่กับชื่อการค้าที่ใช้
    • ระยะตั้งท้องถึงระยะออกรวง (ข้าวอายุ 61-80 วัน) กรณีที่พบตัวอ่อน และตัวเต็มวัยชนิดปีกสั้น จำนวนมากกว่า 1 ตัวต่อต้น ให้ใช้สารป้องกันกำจัดแมลง ได้แก่ ไพรมีโทซีน 50% ดับบลิวจี 1,2 หรือ ไดโนทีฟูเรน 10% ดับบลิวพี หรือ ซัลฟอกซาฟลอร์ 50% ดับบลิวจี ตามคำแนะนำในฉลาก ขึ้นกับชื่อการค้าที่ใช้
    หมายเหตุ : เลือกใช้สารชนิดใดชนิดหนึ่งตามคำแนะนำ ต้องสลับกลุ่มสารทุก 30 วัน ตามวงรอบชีวิต เพื่อลดความต้านทานต่อสารกำจัดแมลง - กรณีที่เกิดการระบาดอย่างรุนแรงหรือพบประชากรจากเพลี้ยกระโดดสำน้ำตาล ในระดับที่สูงกว่าค่าระดับเศรษฐกิจอย่างมาก สารป้องกันกำจัดแมลงที่เป็นทางเลือกสำหรับแนะนำ คือ
         1) ไพมีโทรซัน 50 % ดับบลิวจี ใช้เมื่อพบจำนวนมวนเขียวดูดไข่มาก
         2) ซัลฟอกซาฟลอร์ 50 % ดับบลิวจี ใช้เมื่อพบจำนวนมวนเขียวดูดไข่น้อย - สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ที่จัดเป็นสารขัดขวางการทำงานของต่อมไร้ท่อ คือ สารที่ได้จากภายนอกหรือสารผสม ที่เปลี่ยนหน้าที่ของระบบต่อมไร้ท่อ และทำให้เกิดผลต่อเนื่องโดยก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพในสิ่งมีชีวิตปกติ หรือในรุ่นลูกหลาน ระบบต่อมไร้ท่อมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อร่างกายในการควบคุมการทำงาน และการติดต่อสื่อสาร รวมทั้งประสานขบวนการทำงานระดับเซลล์ให้เกิดประสิทธิภาพ และเป็นระเบียบถูกต้อง ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง
     8) กำจัดวัชพืชในแปลงนาและรอบแปลงนา
     9) ใส่ปุ๋ยอัตราที่แนะนำ ไม่ใส่ปุ๋ยไนโตรเจนอัตราสูง"
  • พืชอาศัย
    ข้าว หญ้าข้าวนก ข้าวป่า
  • การป้องกันกำจัด