Loading...
บทความ

การขาดกำมะถัน(Sulfur deficiency)

     กำมะถัน (S) เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของกรดอะมิโนและโคเอนไซม์ ที่ช่วยในการสร้างคลอโรฟิลล์และสังเคราะห์โปรตีน กำมะถันไม่ค่อยเคลื่อนย้ายในพืชทำให้อาการขาดเกิดกับใบอ่อนก่อน ต้นข้าวที่ขาดกำมะถันจะมีอาการคล้ายกับการขาดไนโตรเจน ต่างกันตรงที่การขาดไนโตรเจนจะเกิดที่ใบแก่ก่อน แต่การขาดกำมะถันจะเกิดที่ใบอ่อนก่อนแล้วตามด้วยใบแก่ โดยเริ่มแรกที่กาบใบจะมีสีเหลืองแล้วลุกลามสู่ใบ อาจพบต้นข้าวมีสีเหลืองทั้งต้นในระยะแตกกอ ความสูงและการแตกกอลดลง ต้นข้าวและใบข้าวเล็กลง นอกจากนี้การขาดกำมะถันยังทำให้การเจริญเติบโตและการพัฒนาของข้าวช้าลง รวงข้าวจะน้อยและสั้น จำนวนเมล็ดต่อรวงลดลง จำนวนท้องไข่ของเมล็ดเพิ่มขึ้น ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าข้าวที่ขาดกำมะถันจะแสดงอาการใกล้เคียงกับการขาดไนโตรเจนมาก จนบางครั้งไม่สามารถบอกความแตกต่างได้ชัดเจน การวินิจฉัยที่แม่นยำอาจต้องใช้ผลจากการวิเคราะห์ตัวอย่างดินและพืช มาประกอบด้วย

      การขาดกำมะถันมีสาเหตุมาจากหลายประการ ที่สำคัญคือดินมีปริมาณกำมะถันไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตการใช้ปุ๋ยเคมีที่ไม่มีกำมะถันเป็นส่วนประกอบ เช่น ยูเรีย, 0-46-0 เป็นต้น รวมทั้งการเผาฟางข้าวหลังเก็บเกี่ยว การขาดกำมะถันมักพบในดินที่มีการผุพังอยู่กับที่ (Weathering) สูง โดยแร่ที่อยู่ในรูปออกไซด์จะดูดยึดซัลเฟตไว้ หรือพบในดินที่มีอินทรียวัตถุต่ำ เนื้อดินเป็นทรายจัด หรือพื้นที่ที่มีการเผาฟางข้าวเป็นประจำ

ตารางแสดงแหล่งปุ๋ยกำมะถันสำหรับใช้ในนาข้าวที่สำคัญ
ชนิด
สูตร
ปริมาณธาตุอาหาร
หมายเหตุ
Ammonium silfate(NH4)2SO4
24% S
21% N
ปฏิกิริยาเป็นกรด, ออกฤทธิ์เร็ว
Single superphosphateCa(H2PO4)2 · H2O
+ CaSO4 · 2H2O
12% S
7 - 9% P
13 - 20% Ca
ละลายได้ดี, ออกฤทธิ์เร็ว
Potassium sulfate (Epsom salt)K2SO4
18% S
40 - 43% K
ออกฤทธิ์เร็ว
KieseriteMgSO4 · H2O
23% S
17% Mg
ออกฤทธิ์เร็ว
LangbeiniteK2SO4 · MgSO4
22% S
18% K
11% Mg
ออกฤทธิ์เร็ว
GypsumCaSO4 · 2H2O
17% S
ออกฤทธิ์ช้า
Elemental SS
97% S
ออกฤทธิ์ช้า
Sulfur- coated ureaCO(NH2)2 + S
6 - 30% S
30 - 40% N
ออกฤทธิ์ช้า
 
                การจัดการเพื่อการป้องกันและแก้ไขการขาดกำมะถันสามารถทำได้โดย การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนหรือฟอสเฟต ควรเลือกใส่ชนิดที่มีกำมะถันเป็นส่วนประกอบ    เช่น   ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต (26% S), ซิงเกิลซูเปอร์ฟอสเฟต (12% S), โพแทสเซียมซัลเฟต (18% S) เป็นต้น ควรไถกลบฟางหลังเก็บเกี่ยวไม่ควรเผาเพราะการเผาทำให้กำมะถันในฟางข้าวสูญเสียถึงร้อยละ 40–60 ในกรณีที่พืชแสดงอาการขาดให้ใส่ปุ๋ยกำมะถัน เช่นยิปซัม (17% S) หรือ Elemental S (97% S) ในอัตราประมาณ 1.5 กิโลกรัม Sต่อไร่  

 

อาการขาดธาตุกำมะถันในข้าว 
ใบอ่อนของต้นข้าวมีสีเหลืองซีด ความสูงและการแตกกอลดลง 
 
ใบอ่อนของข้าวมีสีออกเหลืองเพราะมีคลอโรฟิลล์ต่ำ ปลายใบมีสีออกขาว