Loading...
บทความ

หนอนห่อใบข้าว( rice leafolder, LF )

หนอนห่อใบข้าว( rice leafolder, LF )

  • หนอนห่อใบข้าว( rice leafolder, LF )
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cnaphalocrocis medinalis (Guenee ,1854)
  • วงศ์ : Pyralidae
  • อันดับ : Lepidoptera
  • ชื่อสามัญอื่น : หนอนม้วนใบข้าว หนอนกินใบข้าว
  • รายละเอียด
    หนอนห่อใบข้าว ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน ปีกสีน้ำตาลเหลืองมีแถบสีดำพาดที่ปลายปีก ตรงกลางปีกมีแถบสีน้ำตาลพาดขวาง 2-3 แถบ (ภาพที่ 1) ขณะเกาะใบข้าวปีกจะหุบเป็นรูปสามเหลี่ยม มักเกาะอยู่ในที่ร่มใต้ใบข้าว เพศผู้มีขนาดเล็กกว่าเพศเมียเล็กน้อย เพศเมียวางไข่เวลากลางคืนประมาณ 120-300 ฟองบนใบข้าว ขนานตามแนวเส้นกลางใบและสามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ไข่มีลักษณะเป็นรูปจานสีขาวขุ่นเป็นกลุ่ม ประมาณ 10-12 ฟอง บางครั้งวางไข่เป็นฟองเดี่ยวๆ ระยะไข่ 4-6 วัน หนอนที่ฟักจากไข่ใหม่ๆ มีสีขาวใส หัวมีสีน้ำตาลอ่อน หนอนโตเต็มที่มีสีเขียวแถบเหลือง หัวสีน้ำตาลเข้ม (ภาพที่ 2) หนอนโตเต็มที่จะเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วเมื่อถูกสัมผัส หนอนมี 5-6 ระยะ ส่วนใหญ่มี 5 ระยะ หนอนวัยที่ 5 เป็นวัยที่กินใบข้าวได้มากที่สุด ระยะหนอน 15-17 วัน หนอนเข้าดักแด้ในใบข้าวที่ห่อตัวนั้น ระยะดักแด้ 4-8 วัน ระยะตัวเต็มวัยนาน 8-9 วัน (ภาพที่ 3) ตัวเต็มวัยจะหลบซ่อนบนต้นข้าวและวัชพืชตระกูลหญ้าในเวลากลางวัน และจะบินหนีเมื่อถูกรบกวน
  • ลักษณะการทำลายและการระบาด
    ผีเสื้อหนอนห่อใบข้าวจะเคลื่อนย้ายเข้าแปลงนา ตั้งแต่ข้าวระยะกล้าและวางไข่ที่ใบอ่อน โดยเฉพาะใบที่ 1-2 จากยอด เมื่อตัวหนอนฟักออกมาจะแทะผิวใบข้าวส่วนที่เป็นสีเขียว ทำให้เห็นเป็นแถบยาวสีขาว บริเวณที่ถูกทำลายจะเป็นทางขาวยาวขนานกับเส้นกลางใบ (ภาพที่ 4) มีผลให้การสังเคราะห์แสงลดลง หนอนจะใช้ใยเหนียวที่สกัดจากปาก ดึงขอบใบข้าวทั้งสองด้านเข้าหากันเพื่อห่อหุ้มตัวหนอนไว้ หนอนจะทำลายใบข้าวทุกระยะการเจริญเติบโตของข้าว ถ้าประชากรหนอนหนาแน่นจะใช้ใบข้าวหลายๆ ใบมาห่อหุ้มและกัดกินอยู่ภายใน ซึ่งปกติจะพบตัวหนอนเพียงตัวเดียวในใบห่อนั้น ในระยะข้าวออกรวงหนอนจะทำลายใบธง ซึ่งมีผลต่อผลผลิต เพราะทำให้ข้าวมีเมล็ดลีบ น้ำหนักลดลง หนอนห่อใบข้าวสามารถเพิ่มปริมาณได้ 2-3 ชั่วอายุต่อฤดูปลูก พบระบาดในแปลงนาข้าวที่ใส่ปุ๋ยอัตราสูง หรือดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะบริเวณใต้ร่มเงาต้นไม้รอบแปลงนา (ภาพที่ 5)
  • พืชอาศัย
    ข้าว ข้าวป่า หญ้าขจรจบ หญ้าข้าวนก หญ้าตีนกา หญ้าชันกาด หญ้าไซ หญ้าตีนติด หญ้าปล้องหิน หญ้าคา
  • การป้องกันกำจัด
    1) ในพื้นที่ที่มีการระบาดเป็นประจำ ควรปลูกข้าว 2 พันธุ์ขึ้นไป โดยปลูกสลับพันธุ์กัน จะช่วยลดความรุนแรงของการระบาด
    2) กำจัดพืชอาศัย เช่น หญ้าข้าวนก หญ้านกสีชมพู หญ้าปล้อง หญ้าไซ หญ้าชันกาด ข้าวป่า เป็นต้น
    3) ไม่ใช้สารป้องกันกำจัดแมลงชนิดเม็ดและสารกลุ่มไพรีทรอยด์สังเคราะห์ หรือสารผสมสารไพรีทรอยด์สังเคราะห์ ในข้าวระยะหลังหว่าน ถึง 40 วัน เพราะศัตรูธรรมชาติจะถูกทำลาย ทำให้เกิดการระบาดของหนอนห่อใบข้าวรุนแรงได้ในระยะข้าวตั้งท้องถึงออกรวง
    4) ไม่ควรใช้ปุ๋ยไนโตรเจนในข้าวระยะกล้า โดยเฉพาะเมื่อเริ่มมีการทำลายของหนอนห่อใบในแปลงข้าว
    5) การใส่ปุ๋ยในนาข้าวควรแบ่งได้ 2 ครั้ง และใช้ปุ๋ยตามคำแนะนำของกรมการข้าว จะช่วยลดการระบาดได้
    6) เมื่อตรวจพบผีเสื้อหนอนห่อใบข้าว 4-5 ตัวต่อตารางเมตร และพบใบข้าวถูกทำลายมากกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ ในข้าวอายุ 15-40 วัน หรือใบข้าวถูกทำลาย 10 เปอร์เซ็นต์ ในระยะข้าวมีใบธง ใช้สารฟิโพรนิล 5% เอสซี หรืออินดอกซาคาร์บ 15% อีซี หรือคลอร์แรนทรานิลิโพรล 20% + ไทอะมีทอกแซม 20% ดับบลิวจี หรือ คลอร์แรนทรานิลิโพรล 5.17% เอสซี หรือไซแอนทรานิลิโพรล 10% โอดี หรือฟลูเบนไดอะไมด์ 20% ดับบลิวจี เลือกใช้สารใดสารหนึ่ง พ่นเฉพาะพื้นที่ที่มีใบข้าวถูกทำลายจนเห็นรอยขาว"