Loading...
บทความ

มวนง่าม( Stink bug )

มวนง่าม( Stink bug )

  • มวนง่าม( Stink bug )
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tetroda denticulifera (Berg)
  • วงศ์ : Pentatomidae
  • อันดับ : Hemiptera
  • ชื่อสามัญอื่น : มวนสามง่าม, แมงแครง
  • รายละเอียด
    มวนง่าม มีวงจรชีวิต 3 ระยะ คือ ระยะไข่ ระยะตัวอ่อน และระยะตัวเต็มวัย ระยะไข่เฉลี่ย 6-8 วัน ระยะก่อนวางไข่นาน 35-43 วัน วางไข่ประมาณ 8-11 ครั้ง เพศเมียวางไข่เป็นแถวตามแนวใบข้าวประมาณ 150-200 ฟองต่อตัว (ภาพที่ 1) ไข่จะฟักเป็นตัวอ่อนเฉลี่ยร้อยละ 89-94 ระยะตัวอ่อนนาน 60-66 วัน ตัวอ่อนมี 5 ระยะ ระยะตัวเต็มวัยเพศผู้นาน 90-120 วัน และเพศเมียนาน 70-125 วัน ตัวอ่อนวัยแรกมีลักษณะลำตัวกลมป้อม ส่วนบนนูนโค้งคล้ายด้วงเต่า มีลวดลายเป็นจุดสีดำ 4 จุด (ภาพที่ 2) ลำตัวสีเหลืองอ่อน หนวด ตา และขาสีดำ เมื่อเข้าสู่วัยที่ 4 และ 5 รูปร่างจะเปลี่ยนเป็นแบนราบ ขอบรอบลำตัวมีลักษณะปลายแหลมหยักซิกแซก และมีหนามแหลมเป็นง่ามยื่นออกมาที่ส่วนหัว และอกปล้องแรก สีของลำตัวจะเปลี่ยนเป็นสีครีม ตัวเต็มวัยเพศผู้มีลักษณะลำตัวแบนสีเทาดำ ส่วนหัวยื่นออกไปเป็นง่ามปลายแหลม 2 ง่าม อกปล้องแรกมีง่ามแหลมยื่นออกไปทางด้านหน้าทั้งสองข้าง ขา หนวด และตาสีดำ แผ่นปิดด้านบนส่วนอก (scutellum) สีเทาดำ ปีกเป็นสีเดียวกับลำตัว ปลายปีกสีขาว ขอบด้านข้างลำตัวส่วนท้องมีสีส้ม ลำตัวยาวประมาณ 1.6 เซนติเมตร กว้าง 0.7 เซนติเมตร ตัวเต็มวัยเพศเมียมีรูปร่างเหมือนเพศผู้ แต่มีขนาดใหญ่กว่ายาวประมาณ 2 เซนติเมตร กว้าง 0.9 เซนติเมตร ตัวเต็มวัยเพศเมียระยะแรก ลำตัว และ ส่วนอก มีสีเหลือง หลังจากนั้นประมาณ 5-10 วัน สีของลำตัวจะเข้มขึ้นเป็นสีน้ำตาลปนเทา ปีกสีเดียวกับลำตัว ตัวเต็มวัยมีต่อมกลิ่น (scent gland) ทำให้แมลงมีกลิ่นเหม็น (ภาพที่ 3) พฤติกรรมของมวนง่าม เคลื่อนที่ช้า และชอบเกาะนิ่งอยู่ตามส่วนต่างๆ ของต้นข้าว ทำลายข้าวโดยดูดกินน้ำเลี้ยงจากลำต้นและใบ ทำให้ต้นข้าวแสดงอาการเหลืองเหี่ยวเฉาและแห้งตาย ตัวเต็มวัยของมวนง่าม มีขนาดใหญ่ เมื่อมีแมลงจำนวนมากเกาะตามลำต้นและใบข้าว ทำให้ใบและลำต้นหักพับ เกิดความเสียหายมากในระยะกล้าและหลังปักดำใหม่
  • ลักษณะการทำลายและการระบาด
    มวนง่ามมีปากแบบเจาะดูด มีอวัยวะส่วนปาก (stylet) พับอยู่ใต้ส่วนหัว มวนง่ามทุกระยะการเจริญเติบโตสามารถทำลายข้าวโดยใช้อวัยวะส่วนปาก เจาะลงไปในใบและลำต้นข้าวแล้วดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนต่างๆ ของต้นข้าว ทำให้ลำต้นและใบเหี่ยวและแห้งตาย พบการระบาดทำลายในฤดูนาปรังรุนแรงกว่าในฤดูนาปี และความเสียหายจะพบมากในระยะกล้าและหลังปักดำ เป็นแมลงศัตรูข้าวที่พบเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 
  • พืชอาศัย
  • การป้องกันกำจัด
    1) เก็บกลุ่มไข่ทำลาย
    2) ใช้สวิงโฉบจับตัวอ่อนและตัวเต็มวัยไปทำลาย