เพลี้ยจักจั่นปีกลายหยัก( (zigzag leafhopper, ZLH) )
เพลี้ยจักจั่นปีกลายหยัก( (zigzag leafhopper, ZLH) )
- เพลี้ยจักจั่นปีกลายหยัก( (zigzag leafhopper, ZLH) )
- ชื่อวิทยาศาสตร์ : Recilia dorsalis (Motschulsky)
- วงศ์ : Cicadellidae
- อันดับ : Hemiptera
- ชื่อสามัญอื่น : -
- รายละเอียด
เพลี้ยจักจั่นปีกลายหยัก ตัวเต็มวัยลักษณะคล้ายเพลี้ยจักจั่นสีเขียว แต่ขนาดเล็กกว่า ลำตัวยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร สีขาว ปีกสองข้างมีลายหยักสีน้ำตาลเป็นทาง อุปนิสัยว่องไว ไม่ชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ชอบเล่นแสงไฟ (ภาพที่ 1) เพศเมียวางไข่บริเวณเส้นกลางใบ ประมาณ 100-200 ฟอง ระยะตัวเต็มวัยนาน 10-14 วัน วางไข่เดี่ยวๆ ระยะไข่นาน 4-5 วัน ตัวอ่อนมีสีขาว ในขณะที่ตัวอ่อนเพลี้ยจักจั่นมีสีเขียวอ่อน ตัวอ่อนมี 5 ระยะ วงจรชีวิตนานประมาณ 25 วัน (ภาพที่ 2)
-
ลักษณะการทำลายและการระบาด
เพลี้ยจักจั่นปีกลายหยัก ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย ดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบและกาบใบข้าว ข้าวที่ถูกทำลายปลายใบจะแห้งและขอบใบเปลี่ยนเป็นสีส้ม ต่อมาข้าวทั้งใบจะเป็นสีส้มและขอบใบหงิกงอ อาการของโรคจะปรากฏที่ใบแก่ก่อน นอกจากนี้ ยังเป็นพาหะนำโรคใบสีแสด (orange leaf disease) (ภาพที่ 3) และโรคหูด (gall dwarf disease) (ภาพที่ 4) มาสู่ต้นข้าว และมีรายงานจากต่างประเทศ พบว่า เพลี้ยจักจั่นปีกลายหยักเป็นพาหะนำโรคใบสีส้ม (yellow orange leaf disease) แต่มีประสิทธิภาพในการถ่ายทอดโรคต่ำ ให้เปอร์เซ็นต์ต้นเป็นโรคต่ำมาก พบแพร่กระจายทั่วไปในนาข้าว ตั้งแต่ระยะกล้าถึงออกรวง พบได้ทุกนิเวศ โดยพบในฤดูนาปีมากกว่านาปรัง
- พืชอาศัย
ข้าว ข้าวป่า หญ้าไซ อ้อย
- การป้องกันกำจัด
1) ใช้แสงไฟล่อแมลงและทำลาย เมื่อมีการระบาดรุนแรง
2) ปลูกข้าวพันธุ์ต้านทาน เช่น กข4 กข9 กข21 กข23 สุพรรณบุรี 60 สุพรรณบุรี 90 พิษณุโลก 2 ชุมแพ 60 เก้ารวง 88 แก่นจันทร์ นางพญา 132 และพวงไร่ เป็นต้น
3) ใช้สารป้องกันกำจัดแมลง ตามคำแนะนำเช่นเดียวกับการป้องกันกำจัดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล