Loading...
บทความ

หอยเชอรี่ (golden apple snail)

หอยเชอรี่เป็นหอยทากน้ำจืด มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกา นำเข้ามาในประเทศไทยเพื่อเลี้ยงขายเป็นอาหารและเลี้ยงประดับในตู้ปลา ต่อมาหลุดรอดลงแหล่งน้ำ และถูกปล่อยเมื่อไม่ต้องการจนกลายเป็นสัตว์ศัตรูข้าวที่สำคัญในประเทศไทย พบระบาดในนาข้าวครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2531 มีลักษณะคล้ายหอยโข่ง (apple snail, Pila spp.) แต่เปลือกมีสีอ่อนกว่า เปลือกบางกว่า และมีร่อง (suture) ลึกกว่า ส่งให้ส่วนยอดของเปลือกหอยนูนสูงขึ้น ส่วนฝาปิดเปลือกของหอยโข่งจะหนาแข็งมากและมีมุกเคลือบเห็นเป็นสีขาว (ภาพที่ และ 2)
หอยเชอรี่ที่ทำความเสียหายแก่ข้าวมากในหลายประเทศ และเป็นชนิดที่พบในประเทศไทย ได้แก่ Pomacea canaliculata (Larmarck, 1822) และ P. maculata (D’Orbigny, 1835) (Horgan, F.G. et al., 2012; Kyle C.H., et al., 2013)


วงจรชีวิต
หอยตัวเต็มวัยอายุประมาณ 3 เดือน มีความสูง 2.5 เซนติเมตร สามารถผสมพันธุ์และวางไข่ได้ แม่หอยจะวางไข่ในที่แห้งเหนือระดับน้ำ โดยวางไข่ครั้งละ 388 - 3,000 ฟอง (ภาพที่ 3) ซึ่งฟักเป็นลูกหอยได้มากกว่าร้อยละ 90 ไข่หอยเชอรี่จะฟักเป็นตัวภายใน 7-12 วัน ลูกหอยกินสิ่งที่อ่อนนิ่ม เช่น สาหร่ายเป็นอาหาร และเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เมื่อมีขนาด 1.6 เซนติเมตร สามารถกัดกินต้นข้าวได้ (ชมพูนุท และทักษิณ, 2541)

พืชอาหาร
ต้นข้าวและพืชน้ำชนิดอื่น ได้แก่ ผักบุ้ง  ผักกระเฉด บัว และผักตบชวา เป็นต้น นอกจากนี้หอยเชอรี่ยังกินได้ทั้งซากพืชและซากสัตว์  สามารถกินได้อย่างรวดเร็ว และกินได้ตลอดเวลา คิดเป็นน้ำหนักอาหารที่กิน ร้อยละ 50 ของน้ำหนักตัวต่อวัน 


ลักษณะการทำลาย
      หอยเชอรี่กัดทำลายต้นข้าวระยะกล้าและระยะปักดำใหม่ๆ ไปจนถึงระยะแตกกอเต็มที่จึงกินน้อยลง โดยจะกัดกินลำต้นข้าวใต้ผิวน้ำสูงเหนือระดับโคนต้น 0.5-1 นิ้ว และกินส่วนใบที่ลอยน้ำต่อไปจนหมดต้น (ภาพที่ 4) พบระบาดมากในนาข้าวทั่วประเทศ โดยเฉพาะนาข้าวที่มีน้ำขัง
      หากไม่มีการป้องกันกำจัด หอยเชอรี่สามารถกัดทำลายข้าวในพื้นที่ 1 ตารางเมตร ให้เสียหายได้ในเวลา 1 คืน ซึ่งความเสียหายนี้อาจทำให้สูญเสียผลผลิตมากกว่าร้อยละ 50 (International Rice Research Institute, 2018)


การป้องกันและกำจัดหอยเชอรี่
          ระยะเวลาที่สำคัญในการป้องกันและกำจัดหอยเชอรี่ คือ ช่วงการเตรียมแปลงและระยะหลังปลูกข้าว โดยเฉพาะ 10 วันแรกหลังจากปักดำ และช่วง 21 วันหลังจากหว่านข้าว หลังจากช่วงเวลานี้เมื่อต้นข้าวอายุ 30-40 วัน เจริญเติบโตพอที่หอยเชอรี่ไม่ทำให้เกิดความเสียหายได้ (International Rice Research Institute, 2018) ดังนั้น การจัดการและควบคุมการทำลายของหอยเชอรี่ที่มีประสิทธิภาพ มีวิธีการ ดังนี้

1. การใช้ชีววิธี (biological control)
     - อนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติของหอยเชอรี่ โดยตัวห้ำหรือผู้ล่าของหอยเชอรี่ ได้แก่ นกปากห่าง
นกกระปูด รวมถึงหนูชนิดต่างๆ ในนาข้าว ปลาหมอ เป็ด และแมลงบางชนิด เช่น ตัวอ่อนแมลงปอ แมลงเหนี่ยง
ด้วงสี่ตา ตัวเต็มวัยของมวนวน มวนกรรเชียง แมลงดานา มวนแมงป่อง 
 และด้วงดิ่ง ตัวอ่อนของแมลงเหล่านี้ใช้ชีวิตอยู่ตามผิวน้ำจึงกินเนื้อลูกหอยเล็กๆ เป็นอาหาร นอกจากนี้ มดแดง มดคันไฟ แมงมุม กินไข่หอยเชอรี่ด้วย
     - ปล่อยเป็ดไล่ทุ่งลงกินหอย ในช่วงหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวหรือก่อนปลูกข้าวหรือหลังจากต้นข้าวมี
ขนาดใหญ่พอ (เช่น ข้าว อายุ 30-45 วัน หรือข้าวอยู่ในระยะแตกกอ)
     - เก็บหอยออกจากแปลงนาและนำไปใช้ประโยชน์ เช่น ปรุงเป็นอาหารบริโภค ใช้ผสมในอาหารสัตว์หรือทำปุ๋ยหมัก เป็นต้น
2. การเขตกรรม (cultural control)
    - การเก็บตัวหอยและไข่หอย เก็บตัวหอยและกลุ่มไข่อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง อาจใช้พืช เช่น ใบ
มะละกอ หรือใบพืชที่อ่อนนิ่มล่อ เพื่อให้หอยมารวมกันและเก็บทำลายได้ง่าย หรือใช้ไม้ปักตามข้างคันนา (ภาพที่ 5) เพื่อล่อให้หอยมาไข่แล้วเก็บออกไปทำลายหรือใช้ประโยชน์
    - การจัดการน้ำ หอยเชอรี่จะเคลื่อนตัวได้ยากหากระดับน้ำต่ำกว่า 2 เซนติเมตร ดังนั้น
ควรรักษาระดับน้ำให้ต่ำในขณะที่ต้นกล้าข้าวมีขนาดเล็ก และช่วงเตรียมดิน ทำร่องน้ำเทียมรอบแปลงเพื่อล่อให้หอย
มารวมกันและเก็บทำลาย
    - กั้นทางน้ำเข้าแปลง ทุกครั้งที่สูบน้ำเข้านาและบริเวณร่องน้ำเข้านา ใช้เฝือกกั้นสวะ
และหอยขนาดใหญ่ก่อน แล้วกั้นตามอีกชั้นด้วยตาข่ายตาถี่ หมั่นเก็บหอยและสวะออกเพื่อไม่ให้กีดขวางทางน้ำเข้า (ภาพที่ 6)
    - วิธีการปลูก เลือกวิธีปักดำโดยใช้ต้นกล้า อายุ 25-30 วัน


3. การใช้พืชที่เป็นพิษต่อหอยเชอรี่ เช่น
     - กากเมล็ดชา ใช้หว่านในนาข้าว อัตรา 3 กิโลกรัมต่อไร่
·    - เนื้อผลมะคำดีควาย อัตรา 3 กิโลกรัมต่อไร่ ผลจากการศึกษาค่าความเข้มข้นที่ทำให้สัตว์ทดลองตาย ร้อยละ 50 ของสารสกัดจากผลมะคำดีควายในแปลงนาทดสอบที่ 48 ชั่วโมง เท่ากับ 37.7 มิลลิกรัมต่อลิตร (อุรัสยาน์ และคณะ, 2557) ซึ่งมีค่าใกล้เคียงกับกากเมล็ดชา และการทดสอบในแปลงนาเกษตรกร พบว่า การใช้สารสกัดจากผลเนื้อมะคำดีควายอัตรา 3 กิโลกรัมต่อไร่ สามารถป้องกันกำจัดหอยเชอรี่ได้มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการใช้กากเมล็ดชา อัตรา 3 กิโลกรัมต่อไร่ โดยภายหลังการใช้สาร 2 วัน ทำให้ความหนาแน่นของหอยเชอรี่ลดลงจากก่อนใช้สาร ร้อยละ 83.3-90.3 และให้ผลผลิตข้าวเฉลี่ยไม่แตกต่างทางสถิติกับการใช้กากเมล็ดชา

วิธีการใช้ผลมะคำดีควายเพื่อกำจัดหอยเชอรี่ในแปลงนาข้าว
- นำผลแห้งมะคำดีควายมาแยกเอาเมล็ดออก และนำเนื้อผลมะตำดีควายตำหรือบดให้ละเอียด
- แช่เนื้อผลมะคำดีควายด้วยน้ำร้อน (อุณหภูมิประมาณ 90 องศาเซลเซียส) ทิ้งไว้ 1 คืน
- เทราดลงไปในแปลงนาที่พบการระบาดของหอยเชอรี่
- ใช้หลังปักดำหรือวันแรกที่เอาน้ำเข้านา และใช้ขณะมีน้ำอยู่ในนาสูง 5 เซนติเมตร
- อัตราการใช้ : เนื้อผลมะคำดีควาย 3 กิโลกรัมต่อไร่


4. การใช้สารเคมี (chemical control)
    1. เมทัลดีไฮด์ (metaldehyde) เป็นเหยื่อพิษสำเร็จรูปอัดเม็ดใช้หว่านในอัตรา 0.5-1 กิโลกรัมต่อไร่ หรือในรูปแบบชนิดผงนำมาละลายน้ำแล้วฉีดพ่นในอัตรา 100 กรัมต่อไร่
    2. นิโคซาไมด์ (nicorsamide) อัตรา 50 กรัมต่อไร่ โดยนำมาละลายน้ำ และพ่นด้วยเครื่องฉีดพ่น หรือใส่บัวรดน้ำ หรือใช้ภาชนะตักราดลงในนา
    3. คอปเปอร์ ซัลเฟต (copper sulphate) ใช้ในอัตรา 1 กิโลกรัมต่อไร่ โดยนำมาละลายน้ำใส่บัวรดน้ำ หรือใช้ภาชนะตักราดลงนาข้าว

คำเตือนและข้อควรระวัง
* ควรใช้ในกรณีที่มีการระบาดรุนแรง (จำนวนหอยเชอรี่ตัวเต็มวัย มากกว่า 2 ตัวต่อตารางเมตร)
และมีความเสียหายมากเท่านั้น และควรใช้สารเพียงครั้งเดียวต่อ 1 ฤดูปลูก
* ใช้สารกำจัดหอยหลังปักดำหรือวันแรกที่เอาน้ำเข้านา และใช้ขณะมีน้ำอยู่ในนาสูง 5 เซนติเมตร
* ใช้สารเคมีตามคำแนะนำ และอัตราที่แนะนำเท่านั้น ไม่ควรใช้สารเคมีที่กรมการข้าวไม่แนะนำให้ใช้ในนาข้าว เช่น สารอะบาเม็กติน สารเอ็นโดซัลแฟน และสารฆ่าแมลงอื่นๆ
     การป้องกันและกำจัดหอยเชอรี่ให้ประสบผลสำเร็จจำเป็นต้องใช้วิธีการต่างๆ ร่วมกัน การใช้สารเคมีเพียงอย่างเดียวจะทำให้การกำจัดไม่ได้ผล อีกทั้งยังต้องใช้สารเคมีในปริมาณมากขึ้น ดังนั้นการป้องกันและกำจัดหอยเชอรี่ที่ดีที่สุดคือใช้วิธีผสมผสาน