Loading...
บทความ

หนอนกระทู้คอรวง( (rice ear-cutting caterpillar , rice armyworm , paddy armyworm) )

หนอนกระทู้คอรวง( (rice ear-cutting caterpillar , rice armyworm , paddy armyworm) )

  • หนอนกระทู้คอรวง( (rice ear-cutting caterpillar , rice armyworm , paddy armyworm) )
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mythimna unipuncta (Haworth) / Mythimna separata (Walker , 1865)
  • วงศ์ : Noctuidae
  • อันดับ : Lepidoptera
  • ชื่อสามัญอื่น : หนอนกระทู้ควายพระอินทร์
  • รายละเอียด
    หนอนกระทู้คอรวง ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน (ภาพที่ 1ซ้าย) ปีกคู่หน้าสีน้ำตาลอ่อน แทรกสีน้ำตาลแดง ปีกกว้างประมาณ 4.5-5 เซนติเมตร วางไข่เป็นกลุ่มตามกาบใบและลำต้น หรือฐานของใบที่ม้วน (ภาพที่ 1ขวา) ไข่ไม่มีขนปกคลุม วางไข่เป็นกลุ่มๆ ละประมาณ 100 ฟอง ระยะไข่นาน 6-8 วัน หนอนที่ฟักออกใหม่กัดกินใบหญ้าอ่อนจนอายุประมาณ 15 วัน จึงเริ่มกัดกินใบและรวงข้าว ระยะหนอนประมาณ 25-30 วัน หนอนมีขนาดค่อนข้างใหญ่กว้างประมาณ 3.5-4 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 2.8 เซนติเมตร ลำตัวสีน้ำตาลอ่อน (ภาพที่ 2) หนอนเข้าดักแด้ที่โคนกอข้าว (ภาพที่ 3) หรือตามรอยแตกของดิน ดักแด้มีสีน้ำตาลแดง ระยะดักแด้นาน 10-12 วัน
  • ลักษณะการทำลายและการระบาด
    หนอนกระทู้คอรวงชอบกัดกินส่วนคอรวงหรือระแง้ของรวงข้าวที่กำลังจะสุก (rippening stage) ทำให้คอรวงขาด สามารถทำลายรวงข้าวได้มาถึงร้อยละ 80 โดยลักษณะการทำลายคล้ายหนอนกระทู้กล้า มักเข้าทำลายต้นข้าวช่วงกลางคืนหรือตอนพลบค่ำถึงเช้าตรู่ กลางวันอาศัยตามใบหรือโคนต้นข้าวหรือวัชพืชตระกูลหญ้า หนอนจะกัดกินต้นข้าวทุกวันจนกระทั่งเข้าดักแด้ พบระบาดมากหลังน้ำท่วมหรือฝนตกหนักหลังผ่านช่วงแล้งที่ยาวนานแล้วตามด้วยฝนตกหนัก การทำลายจะเสียหายรุนแรง จนชาวนาเรียกกันว่า “หนอนกระทู้ควายพระอินทร์” นอกจากนั้น ในระยะข้าวแตกกอเป็นต้นไป พบการระบาดของหนอนกระทู้คอรวง M. venalba , M. loreyi และ M. unipuncta ซึ่งพบทำลายข้าวนาสวนและข้าวไร่บนพื้นที่สูง (ภาพที่ 4) ตัวหนอนวัยแรกจะกัดแทะกินเนื้อใบจนเหลือแต่ผิวใบสีขาว เมื่อหนอนมีขนาดโตขึ้นประมาณ 2 เซนติเมตรขึ้นไป จะกัดกินเนื้อใบข้าวจนเหลือแต่เส้นกลางใบ หากมีการระบาดรุนแรงหนอนจัดกัดกินใบข้าวและต้นข้าวจนเหลือแต่โคนต้น (ภาพที่ 5 และ 6) 
  • พืชอาศัย
    ข้าว ข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโพด ข้าวฟ่าง อ้อย ถัวเขียว ยาสูบ ปอกระเจา ละหุ่ง มันเทศ กะหล่ำ หญ้าข้าวนก
  • การป้องกันกำจัด
    1) ไถพลิกดินเพื่อทำลายดักแด้ที่อยู่ในดินหรือในตอซัง
    2) กำจัดวัชพืชบนคันนา และบริเวณใกล้เคียง เพื่อทำลายแหล่งอาศัย
    3) กองหญ้าแห้งหรือฟางไว้ริมคันนาเป็นหย่อมๆ เพื่อให้หนอนมาอาศัยหลบซ่อนในตอนกลางวัน แล้วจับไปทำลาย
    4) วิธีชีวภาพ ถ้าหนอนมีปริมาณไม่มาก ปล่อยให้ศัตรูธรรมชาติ เช่น แมลงวันก้นขน แตนเบียนต่างๆ คอยควบคุม
    5) ในกรณีที่มีหนอนปริมาณมาก ใช้สาร มาลาไทออน 83% อีซี หรือเฟนิโทรไทออน 50% อีซี เลือกใช้สารใดสารหนึ่ง