Loading...
บทความ

ขอบข่าย (Scope)

       กระบวนการผลิตข้าวอินทรีย์ที่ยอมรับกันในระดับสากลนั้น จะต้องมีการจัดการและวางเป็นระบบการผลิตที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงและรับผิดชอบร่วมกันของผู้เกี่ยวข้องในทุกขั้นตอนอย่างเป็นองค์รวม (Holistic approach) ตามเกณฑ์กำหนดขั้นต่ำสุด (Minimum requirement) ของแนวทางการผลิต การแปรรูป การติดฉลาก และการตลาดที่จะต้องมีการตรวจสอบในขั้นตอนการผลิตต่าง ๆ เพื่อให้การรับรองตรงตามแนวทางของมาตรฐาน (Standard guideline) ทั้งนี้ จะต้องมีองค์กรหลักเป็นผู้ประสานงานในกระบวนการดูแลการลงทุนในระบบ รวมทั้งจัดการผลตอบแทนแก่ผู้เกี่ยวข้องในระบบและกำหนดโครงสร้างราคาอย่างเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

  • กำหนดวิธีการจัดการพื้นที่ปลูกหรือแหล่งผลิต วิธีการเพาะปลูก การแปรรูป และการเก็บรักษา ผลิตภัณฑ์ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ภายใต้หลักการพื้นฐาน (Basic aspects) และเกณฑ์กำหนด (Requirements) ของการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ยอมรับกัน   ในระดับสากล คือ ไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์ ไม่ใช้สิ่งมีชีวิตที่ได้จาการดัดแปรพันธุกรรมในระบบการผลิต มีการกำหนดขอบเขตของพื้นที่ปลูกเก็บรักษา แปรรูป และขนส่ง แล้วกำหนดวิธีการ หรือระบบป้องกันการปนเปื้อนและปลอมปนในการจัดการเพาะปลูก แนะนำให้ใช้และเวียนใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นอย่างผสมผสานและพึ่งตนเองโดยมุ่งสู่ความยั่งยืนของระบบการผลิตความหลากหลายทางชีวภาพ ความอุดมสมบูรณ์ของดินและสมดุลของธาตุอาหารที่มีผลต่อการเจริญเติบโตความแข็งแรงและความทนทานของต้นพืช ใช้เครื่องจักรกลหรือการปรับสภาพทางกายภาพอย่างเหมาะสมไม่ก่อมลภาวะต่อสภาพแวดล้อมของระบบการผลิต และผลผลิต
  • กำหนดวิธีการตรวจประเมิน ตรวจสอบ ติดตามตรวจวิเคราะห์ทางระบบการผลิต และการจัดการผลผลิต แล้วจึงรวบรวมเอกสารแผนการดำเนินงานและรายงานผลการตรวจสอบเพื่อการพิจารณารับรองผลิตภัณฑ์ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ และเพื่อการทวนสอบ
  • ผลิตผลหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองตามรูปแบบการผลิตนี้ เป็นไปตามข้อกำหนดในมาตรฐาน สินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติเกษตรอินทรีย์เล่มที่ 1: การผลิตแปรรูปแสดงฉลากและจำหน่ายเกษตรอินทรีย์ (มกอช. 9000-2546 ICS 65.020 ISBN974-403-135-2) และ "มาตรฐานการผลิตของประเทศไทย" (กรมวิชาการเกษตรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, 2543) และ “มาตรฐานสินค้าเกษตร เกษตรอินทรีย์ เล่ม 4 : ข้าวอินทรีย์” (มกอช. 9000-2010 ICS 65.020 ISBN : 978-974-403-737-4) และ Guidelines for the Production, Processing, Labelling and Marketing of Organically Produced Foods (FAO/WHO, 2001)