เพลี้ยไฟ( rice thrips )
เพลี้ยไฟ( rice thrips )
- เพลี้ยไฟ( rice thrips )
- ชื่อวิทยาศาสตร์ : Stenchaetothrips biformis (Bagnall)
- วงศ์ : Thripidae
- อันดับ : Thysanoptera
- ชื่อสามัญอื่น : -
- รายละเอียด
เพลี้ยไฟ เป็นแมลงจำพวกปากดูด ขนาดเล็ก ลำตัวยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร มีทั้งชนิดมีปีกและไม่มีปีก ตัวเต็มวัยมีสีดำ (ภาพที่ 1) ตัวอ่อนสีเหลืองอ่อน ตัวเต็มวัยวางไข่ในเนื้อเยื่อของใบข้าว ระยะไข่นาน 3 วัน ตัวอ่อนมี 2 ระยะ ระยะเวลาตั้งแต่ตัวอ่อนถึงตัวเต็มวัยใช้เวลานานประมาณ 15 วัน
-
ลักษณะการทำลายและการระบาด
เพลี้ยไฟทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยทำลายข้าวโดยการดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบข้าวที่ยังอ่อน โดยอาศัยอยู่ตามซอกใบ ใบที่ถูกทำลายปลายใบจะเหี่ยว
ขอบใบจะม้วนเข้าหากลางใบ และอาศัยอยู่ในใบที่ม้วนนั้น (ภาพที่ 2) ใบข้าวที่ถูกทำลายส่วนใหญ่สามารถฟื้นตัวได้เอง ถ้าการระบาดไม่รุนแรง พบทำลายข้าวในระยะกล้าหรือหลังปักดำ 2-3 สัปดาห์ โดยเฉพาะในอากาศร้อนแห้งแล้งหรือฝนทิ้งช่วงนานติดต่อกัน หรือสภาพนาข้าวที่ขาดน้ำ ถ้าระบาดมากๆ ทำให้ต้นข้าวแห้งตายได้ทั้งแปลง (ภาพที่ 3) แต่ถ้าฝนตกหนัก ก็สามารถชะตัวเพลี้ยไฟให้หลุดจากต้นข้าวได้
- พืชอาศัย
ข้าว ข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ ป่านลินิน และพืชตระกูลหญ้า
- การป้องกันกำจัด
1) ดูแลแปลงข้าวระยะกล้าหรือหลังหว่าน อย่าให้ขาดน้ำ
2) เมื่อตรวจพบเพลี้ยไฟตัวเต็มวัย 1-3 ตัวต่อต้น ในข้าวอายุ 6-7 วันหลังหว่าน ให้ไขน้ำท่วมยอดข้าวทิ้งไว้ 1-2 วัน และหว่านปุ๋ยเพื่อเร่งการเจริญเติบโตของต้นข้าว
3) ใช้สารป้องกันกำจัดแมลง คาร์บาริล 85% ดับบลิวพี่ หรือไดโนทีฟูแรน 10% เอสแอล พ่นเมื่อพบใบข้าวม้วนมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ หรือพบตัวเต็มวัยเพลี้ยไฟ 1-3 ตัวต่อต้น ในระยะข้าวอายุไม่เกิน 30 วันหลังหว่าน