เพลี้ยจักจั่นสีเขียว( green rice leafhopper )
เพลี้ยจักจั่นสีเขียว( green rice leafhopper )
- เพลี้ยจักจั่นสีเขียว( green rice leafhopper )
- ชื่อวิทยาศาสตร์ : Nephotettix spp.
- วงศ์ : Cicadellidae
- อันดับ : Hemiptera
- ชื่อสามัญอื่น : -
- รายละเอียด
เพลี้ยจักจั่นสีเขียว ภาพที่ 1 ตัวเต็มวัยเพลี้ยจักจั่นสีเขียว N. virescens (Distant)เป็นแมลงจำพวกปากดูด ที่พบทำลายข้าวในประเทศไทยมี 2 ชนิด คือ Nephotettix virescens (Distant) และ Nephotettix nigropictus ตัวเต็มวัยของแมลงทั้ง 2 ชนิด มีสีเขียวอ่อน และอาจมีแต้มดำบนส่วนหัวหรือปีก (ภาพที่ 1) ขนาดลำตัวยาวไม่แตกต่างกัน ต่างกันตรงที่ N. nigropictus มีขีดดำพาดตามความยาวของขอบหน้าผากระหว่างตาทั้ง 2 ข้าง แต่ N. virescens ไม่มี ตัวเต็มวัยไม่มีชนิดปีกสั้น เคลื่อนย้ายรวดเร็วเมื่อถูกรบกวน สามารถบินได้เป็นระยะทางไกลหลายกิโลเมตร ชอบบินมาเล่นแสงไฟตอนกลางคืน โดยเฉพาะช่วงฤดูฝนตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงตุลาคม เพศเมียวางไข่ในกาบใบข้าว วางไข่เป็นกลุ่ม กลุ่มละ 8-16 ฟอง ไข่วางใหม่ๆ มีสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ต่อมากลายเป็นสีน้ำตาลและมีจุดสีแดง ระยะไข่นาน 5-8 วัน ตัวอ่อนมีสีเหลืองหรือสีเขียวอ่อน ตัวอ่อนมี 5 ระยะ ระยะตัวอ่อนนาน 14-15 วัน ระยะตัวเต็มวัยประมาณ 10 วัน (ภาพที่ 2 ) วางไข่ได้ประมาณ 200-300 ฟอง
-
ลักษณะการทำลายและการระบาด
เพลี้ยจักจั่นสีเขียวอพยพเข้าแปลงข้าวทันทีหลังจากเป็นต้นกล้า และมีปริมาณมากที่สุดในช่วงการเจริญเติบโตทางลำต้นและใบ ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบและลำต้นข้าว ทำให้ข้าวชะงักการเจริญเติบโตและอาจแห้งตายได้ถ้ามีปริมาณหนาแน่น และเป็นแมลงพาหะนำโรคใบสีส้ม (yellow orange leaf disease) มาสู่ข้าว ทำให้ต้นข้าวแคระแกร็น ใบเหลือง (ภาพที่ 3) ข้าวออกรวงไม่สม่ำเสมอ เมล็ดลีบ นอกจากนี้ ยังเป็นแมลงพาหะนำโรคหูด (gall dwarf disease) แต่มีประสิทธิภาพในการถ่ายทอดโรคต่ำ โดยปกติอาศัยอยู่ส่วนบนของต้นข้าวในตอนเข้า และย้ายลงมาด้านล่างของต้นข้าวในตอนบ่าย ตัวเต็มวัยและตัวอ่อนจะแพร่กระจายออกไปไม่อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม โดยทั่วไปจึงไม่พบจำนวนประชากรมากถึงระดับทำให้ข้าวแห้งตายได้ เพลี้ยจักจั่นสามารถดำรงชีวิตได้ 3-4 ชั่วอายุในหนึ่งฤดูปลูก ตัวเต็มวัยสามารถดักจับได้จากกับดักแสงไฟ มักพบระบาดในฤดูฝนที่สภาพต้นข้าวเจริญดีเหมาะต่อการขยายพันธุ์ และพบในฤดูนาปีมากกว่าฤดูนาปรัง"
- พืชอาศัย
ข้าว ข้าวป่า หญ้าไซ
- การป้องกันกำจัด
1) ใช้แสงไฟล่อแมลงและทำลาย เมื่อมีการระบาดรุนแรง
2) ปลูกข้าวพันธุ์ต้านทาน เช่น กข4 กข9 กข21 กข23 สุพรรณบุรี 60 สุพรรณบุรี 90 พิษณุโลก 2 ชุมแพ 60 เก้ารวง 88 แก่นจันทร์ นางพญา 132 พวงไร่ เป็นต้น
3) ใช้สารป้องกันกำจัดแมลง ตามคำแนะนำเช่นเดียวกับการป้องกันกำจัดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เมื่อมีการระบาดของโรคใบสีส้ม
4) ไม่ไส่ปุ๋ยไนโตรเจนเกินอัตราแนะนำ
5) กำจัดวัชพืชรอบแปลงนา
6) ปลูกพืชหมุนเวียนในฤดูนาปรัง เพื่อลดการระบาด