บทความ
หนูศัตรูข้าว
(rat
and mite)
หนูที่พบในนาข้าวที่สำคัญ มี 3 สกุล 7 ชนิด ได้แก่ คือ หนูพุกใหญ่
หนูพุกเล็ก หนูนาใหญ่ หนูนาเล็ก หนูท้องขาวบ้าน หนูหริ่งนาหางยาว และหนูหริ่งนาหางสั้น
ลักษณะการทำลาย
หนูทำให้ข้าวเสียหายตั้งแต่เริ่มปลูก
โดยกัดกินเมล็ดข้าวที่งอก (ภาพที่ 1)
เมื่อข้าวเริ่มงอกถึงระยะแตกกอ
หนูจะกัดต้นข้าวโดยอาจจะไม่กินข้าวที่กัดนั้นทั้งหมด
รอยกัดจะเป็นลักษณะเฉียงทำมุมประมาณ 45 องศา หรืออาจพบรอยกัดแทะลักษณะเป็นรอยถากด้านข้างลำต้น
ซึ่งไม่ได้กัดให้ต้นข้าวขาด แต่ทำให้ต้นข้าวแสดงอาการใบเหลืองและเหี่ยว (ภาพที่ 2) เมื่อข้าวออกรวง หนูจะกัดลำต้นหรือคอรวงให้ขาด แล้วแกะเมล็ดออกจากรวงกิน
(ภาพที่ 3) นอกจากนี้ยังเก็บสะสมรวงข้าวไว้ในรัง
เพื่อเป็นอาหารหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว
การป้องกันและกำจัดหนูศัตรูข้าว
การป้องกันและกำจัดหนูศัตรูข้าว
มีวิธีการ ดังนี้
1. การใช้วิธีกล
เป็นวิธีการที่สามารถทำได้เอง
ปลอดภัย และประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก
1.1 การดัก
โดยใช้กับดักชนิดต่างๆ วางบริเวณทางเดินของหนู
1.2 การขุดหนู
เหมาะสำหรับพื้นที่ปลูกข้าวที่มีแรงงานและเวลามากพอ
นิยมดำเนินการในช่วงฤดูแล้งหรือหลังการปลูกข้าว ขุดและจับหนูออกมาทำลายให้มากที่สุด
1.3 การล้อมตีหนู
ควรดำเนินการในช่วงหลังจากเก็บเกี่ยวข้าว
เป็นวิธีการที่ต้องใช้ความร่วมมือในการช่วยกันไล่หนูให้เข้ามารวมกันและช่วยกันตีหนูที่อยู่ในวงล้อม
2. การเขตกรรม
ได้แก่
การปรับสภาพแวดล้อมบริเวณแปลงนาไม่ให้เหมาะต่อการอยู่อาศัยของหนู เช่น การปรับลด
ขนาดของคันนาให้เล็ก
เพื่อลดพื้นที่อยู่อาศัยและที่ผสมพันธุ์ ให้มีขนาดเล็กกว่า 30 เซนติเมตร
และการกำจัดวัชพืชหรือกองวัสดุเหลือใช้ตามบริเวณคันนาอยู่เสมอ
3. การใช้ชีววิธี
เป็นการป้องกันกำจัดหนูโดยอาศัยสัตว์ศัตรูธรรมชาติของหนู และการใช้ปรสิตที่พบเฉพาะในหนู
ทำให้หนูป่วยเป็นโรคและตาย
3.1
การใช้สัตว์ศัตรูธรรมชาติ เช่น
นกแสก งู พังพอน เหยี่ยว ช่วยกำจัดหนู ควรใช้ทางมะพร้าวหรือกิ่งไม้ปักไว้ในแปลงนา
เพื่อเป็นคอนสำหรับนกผู้ล่า
3.2
การใช้เหยื่อโปรโตซัวกำจัดหนู
เหยื่อโปรโตซัว
เป็นสารชีวินทรีย์กำจัดหนู โดยใช้ปรสิตโปรโตซัว Sarcocystis singaporensis
ที่พบเฉพาะในหนูและงูเหลือม มีการขยายพันธุ์แบบไม่มีเพศ
บริเวณเซลล์บุผิวภายในหลอดเลือดของหนู และสุดท้ายสร้างเป็นซีสต์
ตามกล้ามเนื้อลำตัว เมื่องูเหลือมกินหนูติดเชื้อ
โปรโตซัวจะขยายพันธุ์แบบอาศัยเพศบริเวณเซลล์ผนังของลำไส้ และผลิตสปอร์โรซีสต์
ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายของการเจริญเติบโต และถูกขับถ่ายปะปนออกมาพร้อมมูลงู
ลักษณะเหยื่อ เป็นเหยื่อแบบนุ่ม ขนาด 1 กรัม มีเชื้อโปรโตซัว บรรจุอยู่ตรงกลางจำนวน 200,000
สปอร์โรซีสต่อก้อน แล้วห่อด้วยกระดาษแก้วขุ่น (ภาพที่ 4)
วิธีใช้ วางในรูหรือทางเดินหนู
และควรใช้ภาชนะสำหรับใส่เหยื่อ (ภาพที่ 5)
วางจุด ละ 2 ก้อน
ห่างกัน 10 เมตร
จำนวน 25 ก้อนต่อไร่ (ใช้ได้เฉพาะหนูในสกุลหนูพุก และหนูท้องขาว เท่านั้น)
4. การทำรั้วกั้น หรือการล้อมรั้วร่วมกับลอบดักหนูหรือกรงดักหนู (trap-barrier
system = TBS)
พื้นที่ที่ปลูกพืชเป็นแปลงขนาดใหญ่
การล้อมรั้วและติดตั้งลอบดักหนู ในบริเวณที่หนูเข้าทำลายก่อน หรือแปลงปลูกพืชล่อ
สามารถป้องกันหนูเข้าทำลายในพื้นที่ล้อมรั้วไว้ได้
และกำจัดหนูที่อยู่ในพื้นที่โดยรอบได้ด้วย
แปลงที่ทำการล้อมรั้วและติดตั้งลอบดักหนูควรมีขนาดกว้าง ประมาณ 20-50 เมตร และยาวประมาณ 20-50 เมตร ระบบนี้มีประสิทธิภาพป้องกันกำจัดหนูศัตรูข้าวได้ดีในรัศมี 200 เมตร
จากแปลงที่ทำการล้อมรั้ว (International Rice Research Institute, 2018) รั้วควรมีความสูงจากพื้นดินอย่างน้อย 100
เซนติเมตร และฝั่งลึกลงไปในพื้นดินอย่างน้อย 15 เซนติเมตร กลบพื้นข้างแนวรั้วให้แน่นสม่ำเสมอ
ลอบดักหนูที่ใช้มีลักษณะคล้ายลอบดักปลา แต่ทำจากวัสดุที่ทนต่อการกัดแทะของหนูได้
และหนูไม่สามารถหนีออกไปได้
มีทางเข้าด้านหน้าเป็นกรวยที่หนูเข้าไปแล้วไม่สามารถย้อนออกมาได้
ด้านท้ายของลอบเป็นประตูสำหรับเปิดเอาหนูออก สามารถใช้วัสดุที่หาได้ง่าย เช่น ปี๊บ
มาประยุกต์เป็นลอบดักหนูได้ตามภาพที่ 6
หนูพุกใหญ่
(greater
bandicoot rat)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bandicota indica (Beckstein, 1800)
ชื่อสามัญอื่น : หนูแผง
หนูพุกใหญ่
มีขนาดใหญ่ที่สุด ตัวเต็มวัยหนัก 200-800 กรัม
ส่วนมากพบหนักประมาณ 600 กรัม ขนตามลำตัวส่วนหลังมีสีดำ
บริเวณด้านหลังช่วงท้ายทอยมีแผงขนสีดำ (ภาพที่ 7)
และจะตั้งขึ้นเห็นได้ชัดเมื่อตกใจ จึงเรียกชื่อ “หนูแผง” เสียงขู่ร้องดังมากในลำคอ ตีนหลังมีสีดำและยาวมากกว่า 50
มิลลิเมตร เพศเมีย มีเต้านมที่ส่วนอก 3 คู่ ที่ส่วนท้อง 3 คู่ (กองกีฏและสัตววิทยากรมวิชาการเกษตร, 2544)
การแพร่กระจาย
พบทั่วทุกภาคของประเทศไทย
ชอบขุดรูอาศัยในดิน ตามดงหญ้าคา จอมปลวก คันนาใหญ่ หรือคันคูคลองส่งน้ำ
ขุยดินที่กองหน้าปากรูทางเข้ามีขนาดใหญ่
หนูพุกเล็ก (lesser
bandicoot rat)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bandicota
savilei
(Thomas, 1914)
ชื่อสามัญอื่น :
-
หนูพุกเล็ก ลักษณะทั่วๆ ไปคล้ายหนูพุกใหญ่ แต่มีขนาดเล็กกว่า น้ำหนักประมาณ 200 กรัม
ขนตามลำตัวส่วนหลังสีเทาเข้ม ส่วนด้านท้องสีเทาอ่อน บางครั้งมีขนสีขาวขึ้นแซม
(ภาพที่ 8) ปกติหางมีสีเดียวกันตลอดหาง บางท้องที่จะพบปลายหางเป็นสีขาว ตีนหลังจะมีความยาวน้อยกว่า 50 มิลลิเมตร เพศเมีย
มีเต้านมที่ส่วนอก 3 คู่ ที่ส่วนท้อง 3 คู่ มีเสียงร้องขู่เบาๆ ดังน้อยกว่าหนูพุกใหญ่
(กองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร, 2544)
การแพร่กระจาย
พบทุกภาคของประเทศไทย
พบมากทางภาคเหนือตอนบนและตอนล่าง และภาคตะวันออก เฉียงเหนือ ขุดรูอาศัยในดินเช่นเดียวกับหนูพุกใหญ่
แต่ขุยดินที่กองหน้าปากรูทางเข้ามีขนาดเล็กกว่า
หนูนาใหญ่ (ricefield
rat)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rattus
argentiventer (Robinson and Kloss, 1916)
ชื่อสามัญอื่น :
หนูนาท้องขาว หนูฝ้าย
หนูนาใหญ่ ตัวเต็มวัยมีน้ำหนัก
100–250 กรัม หางมีสีดำตลอด ส่วนใหญ่ความยาวหางสั้นกว่าความยาวหัวและลำตัวรวมกัน ขนลำตัวด้านหลังสีเหลืองปนเทาหรือมีขนสีดำแซมมาก
(ภาพที่ 9) ขนบนตีนหลังขาว มีแถบดำยาว ขนท้องมีสีเงินปนขาวหรือเทาอ่อน ในหนูที่ยังโตไม่เต็มวัย
(subadult) มักพบขนสีส้มกลุ่มเล็กๆ ที่โคนหู เพศเมีย มีเต้านมที่ส่วนอก 3 คู่ ที่ส่วนท้อง 3 คู่ (กองกีฏและสัตววิทยา
กรมวิชาการเกษตร, 2544)
การแพร่กระจาย
พบทั่วทุกภาคของประเทศไทย
และเป็นหนูศัตรูข้าวที่สำคัญของการปลูกข้าวในภาคกลางและภาคใต้ ขุดรูอาศัยตามคันนา หรือบริเวณที่มีวัชพืชขึ้นปกคลุม ลักษณะขุยดินบริเวณทางเข้าละเอียดคล้ายหนูพุกเล็ก
หนูนาเล็ก
(lesser ricefield rat)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rattus losea
(Swinhoe, 1870)
ชื่อสามัญอื่น :
หนูนาท้องขาว หนูฝ้าย
หนูนาเล็ก
มีขนาดเล็กกว่าหนูนาใหญ่ ตัวเต็มวัยมีน้ำหนักประมาณ 70-100 กรัม
ขนลำตัวส่วนหลังและตีนหลังมีสีน้ำตาลคล้ำหรือปนดำ นุ่มและไม่มีขนแข็งแทรก (ภาพที่ 10) ขนส่วนท้องมีสีเทาขี้เถ้า ความยาวหางสั้นกว่าความยาวหัวและลำตัวรวมกัน
ส่วนจมูกทู่ ทำให้หน้าดูสั้นกว่าหนูนาใหญ่ เพศเมีย มีเต้านมที่ส่วนอก 2 คู่
ที่ส่วนท้อง3 คู่ (กองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร, 2544)
การแพร่กระจาย
เป็นศัตรูที่สำคัญของข้าว
ธัญพืชเมืองหนาว พบทุกภาคของประเทศแต่พบมากในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ขุดรูอาศัยตามคันนา และแปลงปลูกพืช
หนูท้องขาวบ้าน (roof
rat, ship rat)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rattus rattus (Linnaeus,
1758)
ชื่อสามัญอื่น : หนูหลังคา
หนูเรือ
หนูท้องขาวบ้าน ตัวเต็มวัยมีน้ำหนักประมาณ 76-209 กรัม มีความหลากหลายในเรื่องของสีขน
ขึ้นอยู่กับภูมิประเทศที่พบ
ปกติสีขนด้านหลังเป็นสีน้ำตาลและกลางหลังมีขนแข็งสีดำแทรกอยู่ (ภาพที่ 11) ขนด้านท้องสีขาวครีม บางครั้งมีแถบขนสีน้ำตาลคล้ำ ยาวจากส่วนคอถึงกลางอก
ขนบริเวณตีนหลังส่วนใหญ่ยาวและมีขนดำแทรกปะปนบ้าง หางดำตลอดและมีเกล็ดละเอียดเล็กๆ
และยาวมากกว่าความยาวหัวและลำตัวรวมกัน ปีนป่ายเก่งมาก จมูกแหลม
จึงทำให้หน้าค่อนข้างแหลมด้วย ตาโตและใบหูใหญ่ เพศเมีย มีเต้านมที่ส่วนอก 2
คู่ ที่ส่วนท้อง 3 คู่ (บางแห่ง เพศเมีย มีเต้านมที่ส่วนอก 3 คู่ ที่ส่วนท้อง 3
คู่) (กองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร, 2544)
การแพร่กระจาย
พบทั่วทุกภาคของประเทศ ในบ้านเรือน ยุ้งฉาง นาข้าว
สวนผลไม้ มะพร้าว ปาล์มน้ำมัน ฯลฯ ปกติไม่ชอบขุดรูในดิน
มักอาศัยอยู่บนต้นไม้ ถ้าขุดรูลงในดินมักไม่มีขุยดินที่ปากรู หรือถ้ามีจะมีน้อยมาก
หนูหริ่งนาหางยาว
(ryukyu mouse)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mus caroli
(Bonhote, 1902)
ชื่อสามัญอื่น : -
หนูหริ่งนาหางยาว
ฟันแทะ คู่บนจะตั้งฉากกับเพดานปาก สีผิวด้านหน้าของฟันแทะคู่บนมีสีแทน
หรือน้ำตาลเข้ม มากกว่าหนูหริ่งชนิดอื่นๆ ส่วนฟันแทะคู่ล่างมีสีขาว จมูกสั้น
จึงทำให้ส่วนหน้าทู่ หางยาวกว่าความยาวหัวและลำตัวรวมกัน และมี 2 สีชัดเจน คือ
สีด้านบนของหางจะมีสีดำ ด้านล่างมีสีขาว ตีนหลังใหญ่และมีสีเทา (ภาพที่ 12) ปีนป่ายได้ดีกว่าหนูหริ่งนาหางสั้น เพศเมีย มีเต้านมที่ส่วนอก 3 คู่
ที่ส่วนท้อง 2 คู่ (กองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร, 2544)
การแพร่กระจาย
พบในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ภาคกลาง และภาคตะวันออก และสามารถพบได้ในภาคใต้
จากการสำรวจประชากรหนูศัตรูข้าวระหว่างปี 2557-2561 ที่จังหวัดพัทลุง เป็นศัตรูสำคัญของข้าว
ธัญพืชเมืองหนาว และพืชไร่ เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว และข้าวโพด อาศัยอยู่ตามรอยแตกระแหงของดิน
หรือในแปลงปลูกพืชที่แห้ง และมีหญ้ารก
หนูหริ่งนาหางสั้น (fawn-colored
mouse)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mus cervicolor (Hodgson,
1845)
ชื่อสามัญอื่น : -
หนูหริ่งนาหางสั้น
ฟันแทะคู่บนจะโค้งงอเข้าด้านใน และไม่ตั้งฉากกับเพดานปาก
สีของฟันแทะคู่ล่างขาวหรือคล้ำกว่าสีฟันแทะของหนูหริ่งนาหางยาว
สีผิวด้านหน้าของฟันแทะคล้ายกับหนูหริ่งนาหางยาว แต่อ่อนกว่ามาก จมูกยาวกว่า
ทำให้ส่วนหน้าแหลม ตีนหลังขาว หางมี 2 สี
แต่อ่อนกว่าหนูหริ่งนาหางยาว และหางสั้นกว่าความยาวส่วนหัวและลำตัวรวมกัน เพศเมีย มีเต้านมที่ส่วนอก
3 คู่ ที่ส่วนท้อง 2 คู่ (ภาพที่ 13) (กองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร, 2544)
การแพร่กระจาย
พบในภาคเหนือ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก เป็นศัตรูสำคัญของข้าว
ธัญพืชเมืองหนาว และพืชไร่ เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว และข้าวโพด อาศัยอยู่ตามรอยแตกระแหงของดิน
หรือในแปลงปลูกพืชที่แห้ง และมีหญ้ารก