สภาพภูมิประเทศ พื้นที่ภาคเหนือตอนบนส่วนใหญ่ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ เป็นเทือกเขาสูงและมีพื้นที่ราบและที่ราบเชิงเขาสำหรับการเกษตรประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 52 ล้านไร่ โดยเป็นพื้นที่สูง ตั้งแต่ 700 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ขึ้นไป ประมาณ 86 เปอร์เซ็นต์ เป็นพื้นที่ป่า หรือประมาณ 44,607,530 ไร่ ซึ่งเป็นแหล่งพันธุกรรมที่สำคัญ และเป็นแหล่งต้นน้ำสายสำคัญต่าง ๆ เช่น ปิง วัง ยม น่าน กก (กรมพัฒนาที่ดิน, 2540) จากสภาพพื้นที่เป็นภูเขามีความลาดชันตามบริเวณไหล่เขาและมีที่ราบปะปนอยู่บ้าง สภาพนาเป็นนาขั้นบันได ซึ่งมีอยู่ประมาณ 94,725 ไร่ จากพื้นที่ปลูกข้าว ทั้งข้าวไร่และข้าวนาประมาณ 200,000 ไร่ ถึงแม้ข้าวที่สูงจะไม่มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ แต่เกษตรกรกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อาศัยอยู่บนที่สูง ยังคงมีความจำเป็นในการปลูกข้าวไว้บริโภคทั้งข้าวไร่และข้าวนา เพราะข้าวเป็นพืชอาหารหลักที่สำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ และในปัจจุบันยังคงมีการขาดแคลนข้าวบริโภคในครัวเรือนแทบทุกชุมชน ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่สูงต่างๆ เพื่อช่วยบรรเทาทุกข์แก่ราษฎรอยู่เสมอทุกปี ลักษณะดิน ดินบนพื้นที่สูงจะมีลักษณะและความอุดมสมบูรณ์ของดินตามธรรมชาติแตกต่างกันออกไปแล้วแต่ชนิดของหินต้นกำเนิด ดินในสภาพทั่วไปจะเป็นแบบดินภูเขา มีความเป็นกรดเป็นด่างผันแปรระหว่าง 4.5-5.6 ปริมาณอินทรียวัตถุสูงร้อยละ 3.5-5.0 ปริมาณธาตุฟอสฟอรัสและซัลเฟอร์ที่เป็นประโยชน์อยู่ในเกณฑ์ต่ำมาก ไม่เพียงพอกับความต้องการในการเจริญเติบโตของข้าว แต่ในขณะเดียวกันปริมาณธาตุโพแทสเซียมและแมงกานีสที่แลกเปลี่ยนได้มีมาก เนื้อดินส่วนใหญ่เป็นดินร่วน มีความหนาแน่นดินรวมประมาณ 1.0 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร ซึ่งถือว่าต่ำมาก แสดงว่ามีความโปร่งพรุน อัตราการแทรกซึมสูงและขังน้ำได้ไม่นาน (สมชายและปฏิภาณ, 2542 ; Hiranburana,1996) ลักษณะภูมิอากาศ เนื่องจากพื้นที่สูงเป็นเทือกเขา ทำให้มีสภาพอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในเวลากลางคืน มีอุณหภูมิกลางวันเฉลี่ย 25 องศาเซลเซียสและอุณหภูมิกลางคืนเฉลี่ย 15 องศาเซลเซียส ทำให้มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของข้าวในนาปี (ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายน) คือมีการแตกกอน้อย อายุยาวขึ้น คอรวงสั้น ความสูงของต้นข้าวและเปอร์เซ็นต์การติดเมล็ดลดลง เป็นผลทำให้ข้าวบนพื้นที่สูงได้ผลผลิตน้อยเมื่อเทียบกับการทำนาทั่วไป อุณหภูมิวิกฤตที่มีผลกระทบต่อการออกดอกและติดเมล็ดของข้าวในตอนกลางวัน/กลางคืน คือ 24/16 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิที่มีผลกระทบต่อสีของใบข้าวคืออุณหภูมิที่ต่ำกว่า 14 องศาเซลเซียส เป็นเวลานาน 1-2 สัปดาห์ Yoshida (1981) รายงานว่าข้าวมีการตอบสนองอย่างมากต่ออุณหภูมิต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส (15-20 องศาเซลเซียส) โดยเฉพาะช่วงก่อนการผสมเกสรประมาณ 10-11 วัน ซึ่งเป็นระยะการแบ่งตัวของสปอร์ ทำให้เกิดการแบ่งตัวลดลง มีผลให้เปอร์เซ็นต์การเป็นหมันเพิ่มขึ้น และถ้าอุณหภูมิตอนกลางวันลดลงเหลือ 14 องศาเซลเซียส จะมีผลทำให้การเป็นหมันสูงถึง 41 เปอร์เซ็นต์ และจะเป็นหมัน 100 เปอร์เซ็นต์ ถ้าอุณหภูมิอยู่ที่ 12 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 6 วัน แหล่งน้ำ อาศัยน้ำฝนจากธรรมชาติเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะในสภาพไร่ ส่วนในการทำนาที่สูงแบบขั้นบันได จะเปิดน้ำเข้าสู่แปลงนาและไหลออกไปสู่กระทงนาที่อยู่ถัดไปตลอดเวลา โดยไหลจากต้นน้ำด้านบนสู่ผืนนาด้านล่าง และไหลลงสู่ลำธารในที่สุด ส่วนในช่วงน้ำมากหรือมีฝนตกชุกติดต่อกันนานๆ เกษตรกรจะทำการไขเปิดน้ำออกจากแปลงทั้งหมดเพื่อไม่ให้ดินเละจนเกินไป เนื่องจากต้นข้าวที่เปียกฝน จะมีน้ำหนักใบและต้นมากขึ้น เกิดการล้ม ทำให้ผลผลิตเสียหายได้ ปริมาณน้ำฝน ในสภาพพื้นที่สูงมักจะมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีมากกว่า 1,200 มิลลิเมตร และมีความชื้นสัมพัทธ์สูง ปริมาณน้ำฝนมีเพียงพอต่อการทำไร่/นา ฤดูฝนอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม (ปริมาณฝนตกเฉลี่ย 150-400 มิลลิเมตรต่อเดือน) ปริมาณน้ำฝนสูงสุดในช่วงเดือนสิงหาคม และจะหมดฤดูฝนในช่วงที่ทำการเก็บเกี่ยวข้าวในเดือนพฤศจิกายน |