หนอนกระทู้กล้า( (rice armyworm, rice swarming caterpillar, cutworm, armyworm, rice cutworm) )
หนอนกระทู้กล้า( (rice armyworm, rice swarming caterpillar, cutworm, armyworm, rice cutworm) )
- หนอนกระทู้กล้า( (rice armyworm, rice swarming caterpillar, cutworm, armyworm, rice cutworm) )
- ชื่อวิทยาศาสตร์ : Spodoptera mauritia (Boisduval)
- วงศ์ : Noctuidae
- อันดับ : Lepidoptera
- ชื่อสามัญอื่น : -
- รายละเอียด
ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน ปีกคู่หน้าสีเทาปนน้ำตาล ความกว้างของปีกกางออกประมาณ 3.5-4 เซนติเมตร ปีกคู่หลังสีขาว (ภาพที่ 1) บินเร็ว สามารถอพยพได้ไกลเป็นระยะทางหลายสิบหรือหลายร้อยกิโลเมตร ชอบเดินทางเป็นกลุ่มคล้ายกองทัพ วางไข่เป็นกลุ่มบริเวณยอดอ่อนของข้าว ตัวหนอนมีสีเทาถึงเขียวแกมดำ ด้านหลังมีลายตามความยาวของลำตัวจากหัวจรดท้าย แต่ละปล้องมีจุดสีดำ (ภาพที่ 2) ตัวหนอนฟักจากไข่ช่วงเช้าตรู่ และรวมกลุ่มกันกัดกินส่วนปลายใบข้าว กลางวันจะหลบอยู่ในดินใต้เศษใบพืชในพื้นนาที่แห้ง บางส่วนอยู่บนต้นข้าวส่วนที่อยู่เหนือน้ำในนาที่ลุ่ม ชอบเข้าดักแด้ในดินหรือบนต้นหญ้าตามขอบแปลง (ภาพที่ 3) ตัวหนอนโตเต็มที่ยาวประมาณ 3.5-4 เซนติเมตร กว้าง 5-6 มิลลิเมตร วงชีวิตจะแตกต่างกันตามพื้นที่ระบาด
-
ลักษณะการทำลายและการระบาด
โดยทั่วไปหนอนจะทำลายข้าวในเวลากลางคืน หนอนระยะแรกจะกัดกินผิวใบข้าว เมื่อโตขึ้นจะกัดกินทั้งใบและต้นข้าว เหลือไว้แต่ก้านใบ (ภาพที่ 4) ตัวหนอนจะกัดกินต้นกล้าระดับพื้นดิน นาข้าวจะถูกทำลายแหว่งเป็นหย่อมๆ และอาจเสียหายได้ภายใน 1-2 วัน ความเสียหายเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หนอนมีการเคลื่อนย้ายเป็นกลุ่มคล้ายกองทัพ จากการขยายพันธุ์หลายๆ รุ่นบนวัชพืชจำพวกหญ้า และเคลื่อนเข้าสู่แปลงกล้าและนาข้าวจากแปลงหนึ่งไปยังอีกแปลงหนึ่ง มักพบระบาดในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะหลังจากผ่านช่วงแล้งที่ยาวนาน แล้วตามด้วยฝนตกหนัก การระบาดจะรุนแรงเป็นบางปี บางพื้นที่
- พืชอาศัย
ข้าว ข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวบาเลย์ ข้าวฟ่าง กระหล่ำ หญ้าข้าวนก อ้อย ถั่วเขียว ยาสูบ ปอกระเจา ละหุ่ง มันเทศ
- การป้องกันกำจัด
1) ไถพลิกดิน เพื่อทำลายดักแด้ที่อยู่ในดินหรือตอซัง
2) กำจัดวัชพืชตามคันนาหรือบริเวณใกล้เคียงเพื่อทำลายแหล่งอาศัย
3) ไม่แนะนำให้ใช้สารป้องกันกำจัดแมลง เนื่องจากตัวหนอนที่พบส่วนใหญ่อยู่ในระยะเกือบเข้าดักแด้ และจะเข้ากัดกินใบข้าวและต้นข้าวภายใน 1 สัปดาห์ ทำให้ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน หากพบการระบาดรุนแรง ควรไถทิ้งและหว่านปลูกใหม่
4) ใช้สวิงโฉบตัวเต็มวัยทำลายทิ้ง
5) ใช้แผ่นกาวเหนียว (sticky board) ติดบริเวณไฟบ้าน เพื่อดึงดูดตัวเต็มวัย
6) เมื่อพบการระบาดรุนแรง และมีความจำเป็นต้องใช้สารป้องกันกำจัดแมลง ให้ใช้สารมาลาไทออน 83% อีซี หรือเฟนิโตรไทออน 50% อีซี โดยเลือกชนิดใดชนิดหนึ่ง