หนอนแมลงวันเจาะยอดข้าว( rice whorl maggot ,RWM )
หนอนแมลงวันเจาะยอดข้าว( rice whorl maggot ,RWM )
- หนอนแมลงวันเจาะยอดข้าว( rice whorl maggot ,RWM )
- ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hydrellia spp.
- วงศ์ : Ephydridae
- อันดับ : Diptera
- ชื่อสามัญอื่น : -
- รายละเอียด
หนอนแมลงวันเจาะยอดข้าว ตัวเต็มวัยเป็นแมลงวันชนิดหนึ่งลำตัวยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร มีสีเทาอ่อน (ภาพที่ 1) เพศเมียวางไข่เป็นฟองเดี่ยวๆ บนใบข้าว ประมาณ 20-100 ฟอง ในข่วงเวลา 3-7 วัน ไข่มีลักษณะเรียว ยาว สีขาว ระยะไข่นาน 2-6 วัน ตัวหนอนหลังฟักจากไข่ใหม่ๆ มีลักษณะใสหรือสีครีมอ่อน เมื่อโตขึ้นมีสีเหลือง ไม่มีขา (ภาพที่ 2) ระยะหนอนนาน 10-12 วัน ระยะดักแด้นาน 7-10 วัน ตัวเต็มวัยมีความว่องไวในตอนกลางวัน บินเข้าหาแปลงข้าวที่ปลูกใหม่ และมีน้ำขังโดยอาศัยแสงอาทิตย์ที่สะท้อนจากผิวน้ำ จะดึงดูดตัวเต็มวัยให้มาวางไข่ และจะเกาะพักอยู่ที่ใบข้าวใกล้ผิวน้ำ หลังจากที่ใบข้าวแผ่ปกคลุมทั่วแปลงแล้วจะไม่พบตัวเต็มวัย
-
ลักษณะการทำลายและการระบาด
ตัวหนอนจะใช้ส่วนของปากที่แข็งงอกัดกินเนื้อเยื่อภายในใบข้าวที่ยังอ่อน และใบม้วนอยู่ ใบที่ถูกทำลายเมื่อเจริญต่อมาจะเห็นเป็นรอยฉีกขาดคล้ายถูกกัด ใบข้าวที่ถูกทำลายมีสีขาวหรือโปร่งใสตามขอบใบที่ขยายออก (ภาพที่ 3) แต่ไม่ทำให้ต้นข้าวมีอาการเหี่ยว สภาพที่ระบาดรุนแรง ต้นข้าวที่ถูกทำลายจะแคระแกร็น (ภาพที่ 4) แตกกอน้อย มักพบทำลายในพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูง โดยเฉพาะในสภาพที่มีน้ำขัง (ภาพที่ 4) ต้นข้าวสามารถฟื้นตัวได้ ถ้าไม่มีแมลงศัตรูอื่นเข้าทำลาย แต่การเจริญเติบโตจะล่าช้าไป 7-10 วัน เป็นแมลงศัตรูประจำท้องถิ่นในภาคเหนือตอนบน โดยเฉพาะในพื้นที่ข้าวที่สูง เช่น จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นต้น
- พืชอาศัย
ข้าว หญ้าข้าวนก หญ้าไซ หญ้าป้องหิน หญ้าแพรก หญ้าไม้กวาด
- การป้องกันกำจัด
1) ระบายน้ำออกจากแปลงนาในระยะเวลา 30 วันหลังปลูก ช่วงที่มีการระบาดเพื่อลดการวางไข่
2) ในพื้นที่ระบาดเป็นประจำ การปลูกข้าวโดยวิธีหว่านจะมีการทำลายน้อยกว่าปลูกโดยวิธีปักดำ
3) โดยปกติเมื่อต้นข้าวโตขึ้น การทำลายจะลดลง จึงไม่จำเป็นต้องใช้สารป้องกันกำจัดแมลง