บทความ
ปูนา
(ricefied
crabs)
ปูนา
เป็นศัตรูข้าวสำคัญอีกชนิดหนึ่ง
พบระบาดและทำความเสียหายในข้าวทั่วทุกภาคของประเทศไทย กัดทำลายข้าวกล้าตั้งแต่ในแปลงตกกล้าและหลังจากปักดำใหม่ ในแปลงข้าวนาหว่านมักเกิดความเสียหายหลังจากเกษตรกรระบายน้ำเข้าสู่แปลงนา
ความเสียหายจะลดลงเมื่อต้นข้าวมีอายุมากขึ้น
รูปร่างลักษณะ
ปูนามีร่างกายแบ่งเป็นสองส่วนคือ
ส่วนหัวกับส่วนอกเชื่อมรวมกันเรียกว่า เซฟาโลธอแรกซ์ (cephalothorax)
และส่วนท้อง (abdomen) มีกระดองคลุมด้านหลังและด้ายข้างของเซฟาโลธอแรกซ์ไว้
ส่วนปากมีรยางค์ 3 คู่ช่วยในการจับอาหาร เคี้ยวอาหาร (ภาพที่ 1)
ใช้เหงือกในการแลกเปลี่ยนแก๊ส รูปร่างแตกต่างกันระหว่างเพศผู้และเพศเมีย เพศเมีย
ส่วนท้องเป็นแผ่นกว้าง รูปโค้งลักษณะคล้ายเล็บมือคนหรือรูปไข่
ส่วนเพศผู้มีขนาดเล็กกว่า รูปร่างคล้ายขนมเปียกปูน (ชมพูนุท, 2554)
ความเสียหายและการทำลาย
ทางตรง กัดทำลายต้นข้าว
โดยปูสามารถกัดทำลายข้าวได้ตลอดวัน ยกเว้นช่วงเวลาที่แดดร้อนจัดมากๆ
ปูนาจะใช้ก้ามเหนี่ยวลำต้นข้าว โดยอาศัยน้ำช่วยพยุงให้ตัวลอย
และใช้รยางค์ปากกัดกินลำต้นอ่อนของข้าวเหนือพื้นดิน 3-5 เซนติเมตร จะพบต้นข้าวที่ถูกกัดลอยน้ำเป็นแพใกล้ๆ กับรูปู (ภาพที่ 2) ปกติปูจะทำลายข้าวในนาที่มีน้ำขุ่นหรือโคลนมากกว่าในนาที่มีน้ำใส
(ชมพูนุท, 2554)
ทางอ้อม
- ปูนาจะขุดรูอาศัยอยู่ตามคันนา คันคูน้ำ หรือคลองชลประทาน
รูปูตามคันนาทำให้น้ำรั่วควบคุมระดับน้ำไม่สะดวกและอาจทำให้คันนาพังทลาย
รูปูมักเอียงเล็กน้อย
เป็นรูดิ่งลึกประมาณ 1 เมตร
- เมื่อปูกัดต้นข้าวหมดทำให้บริเวณนั้นว่าง หากไม่มีการปักดำซ่อมแซม กลายเป็นแหล่งขยายพันธุ์ของวัชพืชได้
ส่งผลทำให้ผลผลิตข้าวอาจลดลง และปริมาณต้นข้าวต่อหน่วยเนื้อที่นาลดน้อยลง
พื้นที่ระบาดส่วนมากเป็นพื้นที่นาน้ำฝน
มีการปลูกข้าวครั้งเดียวในรอบปี
ทั้งนี้อาจเนื่องจากในเขตชลประทานมีการปลูกข้าวอย่างต่อเนื่องกันตลอด ทำให้ในบางท้องที่ที่มีการระบาดของแมลงศัตรูข้าว
และมีการใช้สารป้องกันกำจัดแมลงทุกชนิดมีผลทำให้ปูนาตาย
เป็นเหตุให้ไม่พบการระบาดรุนแรง เช่น นาอาศัยน้ำฝนก็เป็นได้ (วิยะดา, 2526; ชมพูนุท, 2554)
การป้องกันและกำจัดปูนา
1. การดักจับ โดยใช้ลอบดักปลาดักในนาตามทางน้ำไหล หรือขุดหลุมฝังไหหรือปี๊บข้างคันนาที่เป็นโคลนตมให้ขอบภาชนะอยู่ระดับพื้นดินใส่เศษปลาหรือกะปิที่มีกลิ่นแรงเป็นเหยื่อ (ภาพที่ 3)
เมื่อดักปูได้แล้วนำไปทำลายหรือสามารถนำไปปรุงอาหาร
ใช้ปรุงเป็นอาหารได้หลายชนิด (ภาพที่ 2) นอกจากจะได้คุณค่าทางอาหารเหมือนกับเนื้อสัตว์อื่นๆ
ทั่วไปแล้ว ยังช่วยด้านการป้องกันกำจัดได้เป็นอย่างดี
ลดค่าใช้จ่ายในการใช้สารเคมี ลดการตกค้างและผลกระทบที่เกิดจากสารเคมี
2. การระบายน้ำออก
ระบายน้ำออกจากนาทันทีหลังปักดำ หรือระบายน้ำออกเมื่อต้นข้าวตั้งตัว และปล่อยน้ำเข้าใหม่ประมาณ 15 - 20 วัน
เหมาะสำหรับนาข้าวในเขตนาชลประทานหรือนาข้าวที่สามารถควบคุมระดับน้ำได้
3.
การใช้ต้นกล้าที่แข็งแรง ในพื้นที่ที่ไม่สามารถระบายน้ำออกได้เนื่องจากสภาพพื้นที่ไม่อำนวย
ควรใช้ต้นกล้าที่แข็งแรงและอายุมากกว่า 30 - 35 วัน เนื่องจากปูชอบเข้าทำลายต้นข้าวที่มีอายุน้อยมากกว่าต้นข้าวอายุมาก
4. การใช้สารเคมี
ได้แก่
-
เฟนิโตรไทออน (fenitrothion) อัตรา 40
มิลลิลิตร/ไร่
-
อีโทเฟนพรอกซ์ (etofenprox) อัตรา 40
มิลลิลิตร/ไร่
-
เฟนไทออน (fenthion) อัตรา 80 มิลลิลิตร/ไร่
วิธีใช้
- ผสมน้ำ
ฉีดในนาข้าว ทันทีหลังปักดำ หรือวันแรกที่ระบายน้ำเข้านา ในนาหว่าน
- ใช้ขณะมีน้ำสูง
10 เซนติเมตร
ข้อควรระวัง
ใช้สารเคมีตามคำแนะนำ
โดยใช้ในอัตราส่วนที่ถูกต้องตามอัตราที่แนะนำเท่านั้น และใช้เมื่อพบการทำลายรุนแรง
ไม่ควรใช้สารเคมีที่กรมการข้าวไม่แนะนำให้ใช้ในนาข้าว เช่น สารอะบาเม็กติน
หรือสารไซเพอร์เมทริน