โรคใบหงิก (โรคจู๋) ( Rice Ragged Stunt Disease )
โรคใบหงิก (โรคจู๋) ( Rice Ragged Stunt Disease )
โรคใบหงิก (โรคจู๋) ( Rice Ragged Stunt Disease )
- โรคใบหงิก (โรคจู๋) ( Rice Ragged Stunt Disease )
- แหล่งที่พบ : ในนาชลประทาน เขตภาคกลาง
- สาเหตุ : เชื้อไวรัส Rice ragged stunt virus (RRSV)
อาการ
- ต้นข้าวเป็นโรคได้ ทั้ง ระยะกล้า แตกกอ และตั้งท้อง อาการของต้นข้าวที่เป็นโรค สังเกตได้ง่าย คือ ข้าวต้นเตี้ยกว่าปกติ
ใบแคบและสั้นสีเขียวเข้ม แตกใบใหม่ช้ากว่าปกติ แผ่นใบไม่สมบูรณ์ ปลายใบบิดเป็นเกลียว
ขอบใบแหว่งวิ่นและเส้นใบบวมโป่งเป็นแนวยาวทั้งที่ใบและกาบใบ ข้าวที่เป็นโรคออกรวงล่าช้าและให้รวงไม่สมบูรณ์
เมล็ดลีบ ผลผลิตลดลง 30-70 เปอร์เซ็นต์ และข้าวพันธุ์อ่อนแอที่เป็นโรคในระยะกล้า ต้นข้าวอาจตายและไม่ได้ผลผลิต
การแพร่ระบาด
- เชื้อไวรัสสาเหตุโรคถ่ายทอดได้โดยแมลงพาหะ คือ
เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และเชื้อไวรัสสามารถคงอยู่ในตอซัง และหญ้าบางชนิด
การป้องกันกำจัด
- 1. กำจัดหรือทำลายเชื้อไวรัส โดยไถกลบไถกลบหรือเผาตอซังในนาที่มีโรค กำจัดวัชพืช โดยเฉพาะวัชพืชใกล้แหล่งน้ำซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยและขยายพันธุ์ของแมลงพาหะ
2. ใช้พันธุ์ข้าวต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล แต่ไม่ควรปลูกข้าวพันธุ์ดังกล่าว ติดต่อกันเกิน 4-6 ฤดูปลูก เนื่องจากแมลงสามารถปรับตัวเข้าทำลายพันธุ์ข้าวที่ต้านทานได้
3. ควรเฝ้าระวังการเกิดโรคถ้าปลูกข้าวพันธุ์อ่อนแอต่อโรคนี้ เช่น กข31 เป็นต้น
4. ใช้สารป้องกันกำจัดแมลงพาหะเมื่อพบจำนวนแมลงเกินระดับเศรษฐกิจ ได้แก่ ใช้สารป้องกันกำจัดแมลงในระยะที่แมลงเป็นตัวอ่อน เช่น ไดโนทีฟูเรน บูโพรเฟซิน หรือ อีโทเฟนพรอกซ์ เป็นต้น ไม่ควรใช้สารป้องกันกำจัดแมลงผสมกันหลายๆ ชนิดหรือใช้สารป้องกันกำจัดแมลงผสมสารป้องกันกำจัดโรคพืชหรือสารกำจัดวัชพืช เพราะอาจทำให้ประสิทธิภาพของสารฆ่าแมลงลดลง ไม่ใช้สารกลุ่มไพรีทรอยด์สังเคราะห์ เช่น ไซเพอร์มิทริน ไซฮาโลทริน เดลทาเมทริน เป็นต้น เนื่องจากสารกลุ่มนี้ไปทำลายแมลงศัตรูธรรมชาติ จึงทำให้เกิดการระบาดรุนแรงของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
5. เมื่อมีโรคระบาดรุนแรง ควรงดปลูกข้าว 1-2 ฤดู เพื่อตัดวงจรชีวิตของแมลงพาหะ