Loading...
บทความ

เพลี้ยกระโดดหลังขาว( whitebacked planthopper , WBPH )

เพลี้ยกระโดดหลังขาว( whitebacked planthopper , WBPH )

  • เพลี้ยกระโดดหลังขาว( whitebacked planthopper , WBPH )
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sogatella furcifera (Horvath)
  • วงศ์ : Delphacidae
  • อันดับ : Homoptera
  • ชื่อสามัญอื่น : -
  • รายละเอียด
    เพลี้ยกระโดดหลังขาว Sogatella furcifera (Horvath) เป็น แมลงจำพวกปากดูด ตัวเต็มวัยคล้ายกับเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล แต่ปีกมีจุดดำที่กลางและปลายปีก และมีแถบสีขาวตรงส่วนอก ระหว่างฐานปีกทั้งสอง ตัวเต็มวัย มีสีน้ำตาลถึงดำ ลำตัวสีเหลือง มีแถบสีขาวเห็นชัดอยู่ตรงส่วนอกระหว่างฐานปีกทั้งสอง มีทั้งชนิดปีกสั้นและปีกยาว เพศผู้พบเฉพาะชนิดปีกยาว ลำตัวยาวประมาณ 2.5 มิลลิเมตร เพศเมียยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร วางไข่ในใบและกาบใบข้าว โดยจะวางไข่อยู่เหนือกว่าระดับที่เพลี้ยกระโดดสี น้ำตาลวางไข่ เพศเมียสามารถวางไข่ได้ 300-500 ฟองในชั่วชีวิต อายุ 10-14 วัน ไข่มีลักษณะและขนาดเหมือนกับไข่ของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล แต่มีเปลือกหุ้มไข่ยาวกว่า ตัวอ่อนมีจุดดำและขาวที่ส่วนท้องด้านบน ต่างจากเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่ตัวอ่อนมีสีน้ำตาลอ่อน ตัวอ่อนมี 5 ระยะ ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยอาศัยอยู่บริเวณกอข้าวเช่นเดียวกับเพลี้ยกระโดดสี น้ำตาล แต่ตัวเต็มวัยชอบอาศัยอยู่บริเวณกลางต้นข้าวเหนือระดับที่เพลี้ยกระโดดสี น้ำตาลอยู่
  • ลักษณะการทำลายและการระบาด
    เพลี้ยกระโดดหลังขาวตัวเต็มวัยอพยพเข้ามาพร้อมกับเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในแปลงข้าวช่วง 30 วันหลังปลูก โดยจะอาศัยอยู่บริเวณโคนต้นข้าว ใน 1 ฤดูปลูกสามารถเจริญเติบโตขยายพันธุ์ได้น้อยชั่วอายุกว่าเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ดังนั้น ในนาข้าวที่พบเพลี้ยกระโดดสำน้ำตาลตั้งแต่ระยะกล้า จึงมักพบเพลี้ยกระโดดหลังขาวจำนวนน้อยมากหรืออาจจะไท่พบเลย และชอบดูดกินน้ำเลี้ยงบนข้าวต้นอ่อน และขยายพันธุ์เป็นพวกปีกยาว จากนั้นจะอพยพออกจากแปลงข้าวก่อนข้าวจะออกดอก กับดักแสงไฟสามารถดักจับตัวเต็มวัยได้เป็นจำนวนมาก เพลี้ยกระโดดหลังขาวพบเป็นแมลงประจำท้องถิ่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนบนมากกว่าภาคกลาง เนื่องจากสภาพการทำนาเป็นแบบนาดำและนาข้าวอาศัยน้ำฝนเป็นส่วนใหญ่ ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของเพลี้ยกระโดดหลังขาวจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากโคนกอข้าว ต้นข้าวที่ถูกทำลายใบมีสีเหลืองส้ม (ภาพที่ 5) ซึงต่างจากต้นข้าวที่ถูกเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลทำลายจะแสดงอาการใบสีน้ำตาลแห้ง เมื่อมีประชากรแมลงหนาแน่น ต้นข้าวอาจจะทำลายจนเหี่ยวและแห้งตายในที่สุด การระบาดค่อนข้าวกระจายสม่ำเสมอเป็นพื้นที่กว้าง ซึ่งแตกต่างจากเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่การระบาดทำลายข้าวจะเป็นหย่อมๆ พบระบาดตั้งแต่ระยะกล้าถึงระยะออกรวง แมลงชนิดนี้นักวิจัยจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนรายงานว่า พบเป้นพาหะนำโรค rice black-streak dwarf virus-2 (RBSDV-2) southern rice black-streaked dwarf virus (SRBSDV) ซึ่งเชื้อสาเหตุคือ Fijivirus พบในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ส่วนมากพบในข้าวพันธุ์ลูกผสม แต่ยังไม่พบรายงานว่ามีโรคไวรัสชนิดนี้ในประเทศไทย
  • พืชอาศัย
    ข้าว หญ้าข้าวนก หญ้าตีนกา หญ้าไม้กวาด หนวดปลาดุก ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าวป่า
  • การป้องกันกำจัด
    1) ปลูกข้าวพันธุ์ต้านทาน เช่น สุพรรณบุรี 60 ชัยนาท 1 สุพรรณบุรี 1 กข31 ชุมแพ 60 เป็นต้น โดยปลูกสลับกันอย่างน้อย 2 พันธุ์ เพื่อป้องกันไม่ให้เพลี้ยกระโดดหลังขาวปรับตัวทำลายข้าวพันธุ์ต้านทานได้ เร็ว หรือถ้าปลูกข้าวพันธุ์เดียว ไม่ควรปลูกติดต่อกันเกิน 4 ฤดูปลูก
    2) เมื่อตรวจพบเพลี้ยกระโดดหลังขาวมากกว่า 1 ตัวต่อต้นให้ไขน้ำออกจากแปลงนา และปฏิบัติเช่นเดียวกับเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
    3) ปลูกข้าวโดยใช้วิธีปักดำหรือโยนกล้า หากปลูกโยวิธีหว่าน ให้ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวปลูก ไม่เกิน 20 กิโลกรัมต่อไร
    4) ไม่ใช้สารอะบาเม็กติน เนื่องจากมีพิษร้ายแรงต่อศัตรูธรรมชาติ ก่อให้เกิดพิษต่อสัตว์น้ำและมลพิษต่อสภาพแวดล้อมในนาข้าว
    5) ไม่ขังน้ำในนาตลอดเวลา ควรปล่อยให้ระดับน้ำมีพอดินเปียก เพื่อทำให้สภาพนิเวศในนาข้าวไม่เหมาะสมต่อการขยายพันธุ์ของเพลี้ยกระโดดหลังขาว และยังทำให้พวกมดในนา สามารถขึ้นมากัดกินตัวอ่อนเพลี้ยกระโดดได้อีกทางหนึ่ง
     6) ใช้สารตามคำแนะนำของกรมการข้าว เมื่อประชากรแมลงในนาข้าวถึงระดับที่ต้องป้องกันกำจัด เช่นเดียวกับการป้องกันกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล สารป้องกันกำจัดแมลงที่สามารถใช้ในการควบคุมการระบาด ให้เลือกใช้ตามอายุของข้าว ได้แก่
     • ข้าวหลังหว่าน ถึงอายุ 40 วัน พบตัวอ่อนระยะที่ 1-2 จำนวนมากว่า 5 ตัว/ต้น ให้ใช้สารป้องกันกำจัดแมลง ได้แก่ บูโพรเฟซิน 10% ดับบลิวพี อัตรา 25 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ บูโพรเฟซิน/ไอโซโพรคาร์บ 5%/20% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยเลือกใช้เพียงชนิดใดชนิดหนึ่ง
     • ข้าวอายุ 41-60 วัน พบตัวอ่อนสีน้ำตาล และตัวเต็มวัยชนิดปีกสั้น จำนวนมากกว่า 1 ตัว/ต้น ให้ใช้สารป้องกันกำจัดแมลง ได้แก่ ไดโนทีฟูแรน 10% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ไพมิโทซิน 50% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยเลือกใช้เพียงชนิดใดชนิดหนึ่ง
     • ข้าวอายุ 61-80 วัน พบตัวอ่อนสีน้ำตาล และตัวเต็มวัยชนิดปีกสั้น จำนวนมากกว่า 1 ตัว/ต้น ให้ใช้สารป้องกันกำจัดแมลง ได้แก่ ไพรมิโทซิน 50% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไดโนทีฟูแรน 10% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยเลือกใช้เพียงชนิดใดชนิดหนึ่ง
     หมายเหตุ : เลือกใช้สารชนิดใดชนิดหนึ่งตามคำแนะนำ ต้องสลับกลุ่มสารทุก 30 วัน ตามวงรอบชีวิต เพื่อลดความต้านทานต่อสารกำจัดแมลง - กรณีที่เกิดการระบาดอย่างรุนแรงหรือพบประชากรจากเพลี้ยกระโดดสำน้ำตาล ในระดับที่สูงกว่าค่าระดับเศรษฐกิจอย่างมาก สารป้องกันกำจัดแมลงที่เป็นทางเลือกสำหรับแนะนำ คือ
        1) ไพมีโทรซัน 50 % ดับบลิวจี ใช้เมื่อพบจำนวนมวนเขียวดูดไข่มาก
        2) ซัลฟอกซาฟลอร์ 50 % ดับบลิวจี ใช้เมื่อพบจำนวนมวนเขียวดูดไข่น้อย
    - สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ที่จัดเป็นสารขัดขวางการทำงานของต่อมไร้ท่อ คือ สารที่ได้จากภายนอกหรือสารผสม ที่เปลี่ยนหน้าที่ของระบบต่อมไร้ท่อ และทำให้เกิดผลต่อเนื่องโดยก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพในสิ่งมีชีวิตปกติ หรือในรุ่นลูกหลาน ระบบต่อมไร้ท่อมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อร่างกายในการควบคุมการทำงาน และการติดต่อสื่อสาร รวมทั้งประสานขบวนการทำงานระดับเซลล์ให้เกิดประสิทธิภาพ และเป็นระเบียบถูกต้อง ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง