Loading...
บทความ

แมลงสิง( (rice bug หรือ slender rice bug) )

แมลงสิง( (rice bug หรือ slender rice bug) )

  • แมลงสิง( (rice bug หรือ slender rice bug) )
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Leptocorisa acuta (Thunberg)Leptocorisa oratorius (Fabricius)
  • วงศ์ : Alydidae
  • อันดับ : Hemiptera
  • ชื่อสามัญอื่น : แมลงฉง
  • รายละเอียด
    แมลงสิง เป็นมวนชนิดหนึ่ง ตัวเต็มวัยมีรูปร่างเพรียวยาวประมาณ 15 มิลลิเมตร หนวดยาวใกล้เคียงกับลำตัว ลำตัวด้านบนสีน้ำตาล ลำตัวด้านล่างสีเขียว (ภาพที่ 1) เมื่อถูกรบกวนจะบินหนี และปล่อยกลิ่นเหม็นออกจากต่อมที่ส่วนท้อง ตัวเต็มวัยจะออกหากินช่วงบ่ายๆ และช่วงเข้ามืด และเกาะพักที่หญ้าขณะที่มีแสงแดดจัด เพศเมียวางไข่ได้ 200-300 ฟอง ในช่วงชีวิตนาน 30-50 วัน วางไข่เป็นกลุ่มมีประมาณ 10-12 ฟอง เรียงเป็นแถวตรงบนใบข้าวขนานกับเส้นกลางใบ ไข่มีสีน้ำตาลแดงเข้ม รูปร่างคล้ายจาน (ภาพที่ 2) ระยะไข่นาน 7 วัน ตัวอ่อนมีสีเขียวแกมน้ำตาล (ภาพที่ 3) อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม และดูดกินน้ำเลี้ยงจากกาบใบข้าวก่อน ต่อมาเป็นตัวเต็มวัยจะเข้าทำลายเมล็ดข้าวในระยะข้าวเป็นน้ำนมจนถึงออกรวง ตัวอ่อนมี 5 ระยะ นาน 25-30 วัน
  • ลักษณะการทำลายและการระบาด
    แมลงสิงเริ่มพบในต้นฤดูฝน และเจริญเติบโตขยายพันธุ์ได้ 1-2 ชั่วอายุ บนพืชอาศัยจำพวกวัชพืชตระกูลหญ้า ก่อนที่จะอพยพเข้ามาในแปลงนาข้าวช่วงระยะข้าวออกดอก แมลงสิงพบได้ทุกสภาพแวดล้อม แต่พบมากในนาอาศัยน้ำฝนและข้าวไร่ สภาพที่เหมาะสมต่อการระบาด คือ นาข้าวที่อยู่ใกล้ชายป่า มีวัชพืชมากมายใกล้นาข้าว และมีการปลูกข้าวเหลื่อมเวลากัน ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยใช้ปากแทงดูดกินน้ำเลี้ยงจากเมล็ดข้าวระยะเป็นน้ำนม แต่ก็สามารถดูดกินเมล็ดข้าวทั้งเมล็ดอ่อนและเมล็ดแข็ง (ภาพที่ 4) โดยตัวเต็มวัยจะทำความเสียหายมากกว่า เพราะดูดกินเป็นเวลานานกว่าทำให้เมล็ดลีบ หรือเมล็ดไม่สมบูรณ์ และผลผลิตข้าวลดลง การดูดกินของแมลงสิงไม่ทำให้เป็นรูบนเปลือกของเมล็ดเหมือนมวนชนิดอื่น โดยปากจะเจาะผ่านช่องว่างระหว่างเปลือกเล็กและเปลือกใหญ่ของเมล็ดข้าว ความเสียหายจากการทำลายของแมลงสิงทำให้ข้าวเสียคุณภาพมากกว่าทำให้น้ำหนักเมล็ดลดลง (ภาพที่ 5) โดยเมล็ดข้าวที่ถูกแมลงสิงทำลาย เมื่อนำไปสีจะแตกหักง่าย ข้อสังเกต ถ้ามีแมลงสิงระบาดในนาข้าวจะได้กลิ่นเหม็นฉุน
  • พืชอาศัย
    ข้าว ข้าวสาลี หญ้าชนิดต่างๆ
  • การป้องกันกำจัด
    1) กำจัดวัชพืชในนาข้าว คันนา และรอบๆ แปลง
    2) ใช้สวิงโฉบจับตัวอ่อนและตัวเต็มวัยในนาข้าวที่พบระบาด และนำมาทำลาย
    3) นำเนื้อเน่าแขวนไว้ตามนาข้าว เพื่อล่อตัวเต็มวัย และจับมาทำลาย
    4) หลีกเลี่ยงการปลูกข้าวต่อเนื่อง เพื่อลดการแพร่ขยายพันธุ์
    5) ใช้สารคาร์โบซัลแฟน 20% อีซี พ่นเมื่อพบแมลงสิงมากกว่า 4 ตัวต่อตารางเมตร ในระยะข้าวแตกกอถึงตั้งท้อง
     หมายเหตุ: สารขนิดนี้จัดอยู่ในกลุ่มความเป็นพิษแถบสีแดง หมายถึง สารป้องกันกำจัดศัตูพืชทุกชนิดที่จัดอยู่ในกลุ่มความเป็นพิษแถบสีแดง กรมวิชาการเกษตรไม่ให้ขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย"