Loading...
บทความ

แมลงนูน( white grub, scarab beetle )

แมลงนูน( white grub, scarab beetle )

  • แมลงนูน( white grub, scarab beetle )
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lachnosterna sp.
  • วงศ์ : Scarabaeidae
  • อันดับ : Coleoptera
  • ชื่อสามัญอื่น : หนอนกัดราก
  • รายละเอียด
    แมลงนูน Lachnosterna sp. ตัวเต็มวัยเป็นแมลงปีกแข็งสีน้ำตาลถึงน้ำตาลดำ ลำตัวอ้วนและสั้น ขนาดประมาณ 15 มิลลิเมตร ปีกคลุมส่วนท้องไม่มิด เพศเมียมีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้เล็กน้อย หลังการผสมพันธุ์ เพศเมียจะบินลงดิน เพื่อวางไข่ในดิน ลึกประมาณ 10-15 เซนติเมตร โดยวางไข่เป็นฟองเดี่ยวๆ ครั้งละ 3-5 ฟอง วางไข่ได้ 10-15 ฟอง ระยะไข่ 7-10 วัน ระยะหนอน 8-9 เดือน และลอกคราบ 3 ครั้ง หนอนเข้าดักแด้ในดิน โดยทำเป็นโพรงดินลักษณะค่อนข้างกลม และเข้าดักแด้ในโพรงดินนั้น ระยะดักแด้ประมาณ 2 เดือน เมื่อเริ่มมีฝนตก ดินอ่อน จะออกเป็นตัวเต็มวัยและผสมพันธุ์ทันที ก่อนเป็นตัวเต็มวัย หนวด ปีก และขา เคลื่อนไหวเป็นอิสระเห็นได้ชัดเจน ยาวประมาณ 15 มิลลิเมตร ตัวเต็มวัยกินใบพืชเป็นอาหารและกินน้อยมาก แตกต่างจากหนอน ซึ่งอาศัยในดินและกินรากพืชสดเป็นอาหาร ระยะไข่จนถึงตัวเต็มวัย ประมาณ 1 ปี
  • ลักษณะการทำลายและการระบาด
    พบระบาดทำลายข้าวไร่ โดยหนอนที่อาศัยอยู่ในดิน กัดกินส่วนรากของต้นข้าว ทำให้สูญเสียระบบรากทั้งหมด จึงเรียกทั่วไปว่า “หนอนกัดราก” การทำลายข้าวไร่มักปรากฏเป็นหย่อมๆ ไม่แพร่กระจายไปทั้งแปลงปลูก ลักษณะต้นข้าวที่ถูกทำลายในระยะแรก จะเหลืองซีด ชะงักการเจริญเติบโต เนื่องจากระบบรากถูกทำลาย ต่อมาใบข้าวจะแห้งตายมากผิดปรกติ และจะแห้งตายทั้งกอในที่สุด กอข้าวที่รากถูกหนอนกัดกินทำลาย จะดึงขึ้นออกมาจากพื้นดินได้ง่าย พบในแหล่งปลูกข้าวไร่ทั่วไป โดยเฉพาะแปลงปลูกที่ล้อมรอบด้วยพืชอาหารและสภาพป่า และเป็นแมลงที่แพร่กระจายในเขตเอเซียอาคเนย์
  • พืชอาศัย
  • การป้องกันกำจัด
    1) จับตัวเต็มวัยที่บินมาเกาะตามต้นพืชอาหารตอนพลบค่ำ โดยใช้ไม้ยาวๆ ฟาดตามกิ่ง ใบ หรือ ปีนขึ้นไปเขย่าให้ตัวเต็มวัยตกลงมา นำไปทำลายหรือเป็นอาหาร ซึ่งคนพื้นเมืองนิยมบริโภค และควรจับต่อเนื่องกันประมาณ 10-15 วัน ก่อนที่ตัวเต็มวัยจะบินลงวางไข่ในดิน วิธีนี้ทำให้ลดปริมาณแมลงได้มาก
    2) ไถพรวนดินหลายๆ ครั้ง เพื่อทำลายไข่และหนอนในดินก่อนการปลูก
    3) สังเกตการทำลายต้นข้าว ซึ่งทั้งกอจะเหลืองซีดผิดปกติและแห้งตายอย่างรวดเร็ว ให้ขุดจับตัวหนอนทำลาย ทิ้ง เพื่อมิให้เคลื่อนย้ายไปทำลายกอใกล้เคียงได้อีก