แมลงดำหนาม( rice hispa )
แมลงดำหนาม( rice hispa )
- แมลงดำหนาม( rice hispa )
- ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dicladispa armigera (Olivier)
- วงศ์ : Chrysomelidae
- อันดับ : Coleoptera
- ชื่อสามัญอื่น : -
- รายละเอียด
แมลงดำหนาม เป็นด้วงปีกแข็งชนิดหนึ่ง มีหนามแข็งแหลมปกคลุม ตัวเต็มวัยมีสีดำ ขนาดลำตัวยาว 5-6 มิลลิเมตร (ภาพที่1) เพศเมียวางไข่เป็นฟองเดี่ยวๆ (ภาพที่ 2) ประมาณ 50 ฟอง ในชั่วอายุขัย 2-3 สัปดาห์ วางไข่เดี่ยวๆ ใกล้ปลายใบอ่อน ระยะไข่นาน 4-5 วัน ตัวหนอนลักษณะลำตัวแบนสีขาว ตัวหนอนกินเนื้อเยื่อภายในผิวใบข้าว เจริญเติบโตและเข้าดักแด้อยู่ภายในใบข้าว ระยะหนอนนาน 7-12 วัน ดักแด้มีสีน้ำตาล นาน 3-5 วัน ตัวเต็มวัยจะกัดกินเฉพาะส่วนปลายของใบ ระยะไข่ถึงระยะตัวเต็มวัย ใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน
-
ลักษณะการทำลายและการระบาด
แมลงดำหนามพบระบาดเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะพื้นที่นาที่เป็นที่ลุ่มมีน้ำท่วมขัง และในระยะที่ข้าวเจริญเติบโตทางลำต้นและใบ ตัวเต็มวัยและตัวหนอนกัดกินเนื้อเยื่อส่วนสีเขียวภายในใบข้าว คล้ายการทำลายของหนอนห่อใบ โดยตัวเต็มวัยกัดกินและแทะผิวใบข้าวด้านบน ทำลายให้เห็นเป็นรอยขูดเป็นทางสีขาวยาวขนานกับเส้นกลางใบ (ภาพที่ 3) ส่วนตัวหนอนจะชอนใบข้าวเห็นเป็นรอยแผ่นสีขุ่นมัวขนานกับเส้นใบ (ภาพที่ 4) นาข้าวที่ถูกทำลายรุนแรงใบข้าวจะแห้งและกลายเป็นสีน้ำตาลเหมือนถูกไฟไหม้ (ภาพที่ 5) ชอบทำลายข้าวในระยะกล้าถึงออกรวง
- พืชอาศัย
ข้าว หญ้าข้าวนก หญ้าขน หญ้าไซ หญ้าตีนนก อ้อย ข้าวโพด หญ้าแพรก
- การป้องกันกำจัด
1) ปลูกข้าวถี่ให้มีใบข้าวหนาแน่น สามารถทนต่อการทำลายของแมลงได้
2) กำจัดวัชพืชบริเวณแปลงนา เนื่องจากวัชพืชบางชนิดเป็นพืชอาศัยของแมลงดำหนาม
3) ไม่ใช้ปุ๋ยไนโตรเจนมาก
4) ตัดปลายยอดใบเพื่อลดการวางไข่
5) ตัดปลายใบที่มีตัวหนอนไปทำลายทิ้ง
6) เมื่อตรวจพบตัวเต็มวัย 2 ตัวต่อจุด ใช้สารฟิโพรนิล 5% เอสซี หรือโคลไทอะนิดิน 16% เอสจิ หรืออิมิดาโคลพริด 70% ดับบลิวจี หรือไทอะมีทอกแซม 25% ดับบลิวจี หรือคลอร์แรนทรานิลิโพรล 5.17% เอสซี เลือกใช้สารใดสารหนึ่ง พ่นเฉพาะบริเวณใบข้าวที่ถูกทำลาย และหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีที่มีผลต่อศัตรูธรรมชาติของระยะไข่และระยะหนอนของแมลงดำหนาม